แร่"ลิเทียม"คืออะไร คุณสมบัติเป็นยังไง ไทยมีมากจริงหรือไม่

20 ม.ค. 2567 | 08:08 น.
734

แร่"ลิเทียม"คืออะไร คุณสมบัติเป็นยังไง ไทยมีมากจริงหรือไม่ หลังเกิดกระแสข่าวไทยสำรวจพบกว่า 14,800,000 ล้านตัน ระบุพบมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

"ลิเทียม"คืออะไร กำลังกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เกิดกระแสข่าวข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ที่ระบุว่า ไทยสำรวจพบแร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

ปัจจุบันไทยค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพทั้งหมด 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม แร่ลิเทียม จึงกลายเป็นแร่หลักสำคัญ ในการทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ประเทศไทยจึงมีโอกาสสำคัญในการเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ของภูมิภาคในอนาคต 

ล่าสุดยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียม ในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิด (แร่ลิเทียม และแร่โซเดียม) ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ทำให้ไทยมีการเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

จากการตรวจสอบของ"ฐานเศรษฐกิจ"เกี่ยวกับแร่ลิเทียมพบว่า

ลิเทียม (Lithium) สามารถพบได้ในแร่หลายชนิด ส่วนใหญ่จะพบได้ในแถบทะเลสาบน้ำเค็ม โดยลิเทียมสามารถนำไปผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ (Rechargeable Battery) ซึ่งแบตเตอรี่เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ,จักรยานไฟฟ้า และสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในการผลิตแก้ว เซรามิก และจาระบี

ลิเทียม คือธาตุที่ 3 ที่ถูกค้นพบต่อจากไฮโดรเจน และฮีเลียม โดยลิเทียม เป็นโลหะที่มีความอ่อนนุ่ม และน้ำหนักเบาที่สุดในธาตุทั้งหมด มีสีขาวเงินปนประกอบกัน ติดไฟได้ง่าย และไม่สามารถดับได้ด้วยน้ำ

อย่างไรก็ดี แม้"ลิเทียม"จะมีลักษณะเบา และเปราะบาง แต่เป็นหนึ่งในกลุ่มโลหะอัลคาไลที่สามารถช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ในยานอวกาศ และเรือดำน้ำได้ 

ซึ่งลิเทียมเป็นโลหะไม่กี่ชนิดที่สามารถรับ และปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยนิยมนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า และสมาร์ทโฟน รวมทั้งในสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่เซรามิกไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์ 

อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตของรถยนต์ EV และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีเพิ่มขึ้น ลิเทียม จึงเป็นทรัพยากรสำคัญในอนาคต ที่มีความต้องการเป็นอย่างมากในตลาดโลกในปัจจุบัน

การค้นพบแร่ศักยภาพอย่างลิเทียม-โซเดียม ทำให้ส่งผลในเรื่องของเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และดึงดูดนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น 

ล่าสุด กพร. ชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม
 
ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้  

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% 

แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต   

ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน ๓ แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา 

โดย กพร. จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป