กทม.ชง คจร.ไฟเขียวโอน “รถไฟฟ้าสายสีเงิน-สายสีเทา” 1.5 แสนล้าน

19 ม.ค. 2567 | 16:31 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2567 | 16:53 น.

กทม.เล็งชงคจร.เคาะแผนลงทุนโอนรถไฟฟ้าสายสีเงิน-สายสีเทา 1.5 แสนล้านบาท ดึงรฟม.สานต่อโครงสร้างพื้นฐาน ลุ้นสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟส 2 หลังกทม.รอความชัดเจนตอกเสาเข็ม-เปิดให้บริการสายสีม่วงใต้

ที่ผ่านมากทม.มีแผนสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯหลายเส้นทาง แต่ปัจจุบันพบว่ากทม.มีแผนโอนให้รฟม.ดูแลโครงการฯเหล่านี้ เพราะเล็งเห็นว่าโครงการจะตอบโจทย์ประชาชนใช้บริการมากกว่าหากอยู่ในมือ รฟม. 

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน กทม.มีแนวคิดจะมอบโครงการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน

ขณะนี้กทม.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ รฟม.รับผิดชอบการลงทุนรวมไปถึงบริหารสัญญาโครงการดังกล่าวทั้งหมด เนื่องจากกทม.มองว่ารฟม.เป็นผู้เชี่ยวชาญรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง อีกทั้งในปัจจุบันกทม.ไม่ได้มีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะกทม.มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล,การศึกษา ฯลฯ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ โดยกทม. มีแนวคิดจะมอบให้ รฟม.นำไปดำเนินการลงทุนนั้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ, โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT-Light Rail Transit) สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 
 

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าที่ กทม.ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ พบว่าต้องจัดใช้วงเงินลงทุนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโมโนเรลสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 2.75 หมื่นล้านบาท ผลการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น จะใช้การร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐในระยะเวลา 30 ปี

ซึ่ง กทม.เคยคาดการณ์จะเสนอกระทรวงมหาดไทยและขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป พร้อมคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คนเที่ยวต่อวัน

ส่วนโครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายสีเงิน ช่วงบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผลการศึกษามีระยะทาง 19.7 กิโลเมตร ประเมินใช้วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วงเงิน 36,020 ล้านบาท ค่างานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 6,720 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา วงเงิน 91,767 ล้านบาท ค่างานเกี่ยวกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 1,186 ล้านบาท

ด้านรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบาสายสีเงิน พบว่าผลการศึกษารูปแบบการลงทุนจะจัดทำลักษณะ PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี พร้อมทั้งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในปี 2572 ที่เปิดใช้บริการจะสูงถึง 82,695 คนเที่ยวต่อวัน และปี 2576 จะเพิ่มสูงขึ้นราว 138,744 คนเที่ยวต่อวัน และในปี 2578 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ จะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 165,363 คนเที่ยวต่อวัน

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงสถานีประชาธิปก (G4) วงเงิน 3,000 ล้านบาท ระยะทาง 0.9 กิโลเมตร (กม.) หรือ 900 เมตร ขณะนี้โครงการฯ เหลือการก่อสร้างเพิ่มอีก 1 สถานี ซึ่งกทม.อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่ผ่านมากทม.ยังไม่มีแผนศึกษารายละเอียดโครงการฯในปี 2567 เนื่องจากปัจจุบันพบว่าการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 ผลตอบรับยังไม่เป็นที่น่าพอใจเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ลดลงอยู่ที่ 846-1,547 เที่ยว-คนต่อวัน

ทั้งนี้เดิมกทม.มีแผนจะศึกษารายละเอียดและก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2 เพิ่มอีก 1 สถานีคือ สถานีประชาธิปก (G4) แต่ปัจจุบันทางกลุ่มสยามพิวรรธน์ เจ้าของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ยังไม่ได้สนับสนุนงบลงทุนดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 2  คาดว่าน่าจะติดปัญหาในเรื่องปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงทำให้ไม่ได้มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อลงทุนโครงการฯ ระยะที่ 2 

กทม.ชง คจร.ไฟเขียวโอน “รถไฟฟ้าสายสีเงิน-สายสีเทา” 1.5 แสนล้าน

 

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทางกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างเอง โดยตามแผนจะต้องดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการฯ จำนวน 4 สถานีประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนคร, สถานีคลองสานและสถานีประชาธิปก (G4) แต่ปัจจุบันมีการก่อสร้างแล้ว จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนครและสถานีคลองสาน

ทั้งนี้ตามแผน กทม. จะศึกษาโครงการฯ ระยะที่ 2 มีแนวเส้นทางเริ่มวิ่งตามแนวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ โรงเรียนจันทรวิทยา และสิ้นสุดแถววัดอนงคารามวรวิหาร ทั้งนี้สถานีประชาธิปก (G4) ตั้งอยู่ระหว่างซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 ทาง ขึ้นลงมี 3 จุด ได้แก่ บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 กับ 5 บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 4 และบริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับ 4 เยื้องวัดอนงคาราม

อย่างไรก็ตามหากโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองก่อสร้างครบทั้ง 2 ช่วง สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถ ไฟฟ้า BTS สายสีลม บริเวณสถานี BTS กรุงธนบุรี (G1) 2. รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เชื่อมต่อกับสถานีประชาธิปก (G4) 3.รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัยเชื่อมต่อกับสถานีคลองสาน (G3)