“พิมพ์ภัทรา”จ่อดึงสถานประกอบการผลิตพลุเข้าข่ายเป็นโรงงาน หลังเหตุระเบิด

18 ม.ค. 2567 | 13:39 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 13:39 น.

“พิมพ์ภัทรา”จ่อดึงสถานประกอบการผลิตพลุเข้าข่ายเป็นโรงงาน หลังเหตุระเบิด หวังคุมความปลอดภัยชีวิต และทรัพย์สินประชาชน ยันกระทรวงอุตสาหกรรมไม่นิ่งนอใจ เผยอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่กำกับดูแลใกล้ชิด

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุระเบิดที่สถานประกอบการผลิตพลุ (โรงงานพลุระเบิด) ที่จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตรวจสอบทันที โดยเบื้องต้นพบว่า สถานประกอบกิจการดังกล่าวประกอบกิจการผลิตประทัดลูกบอลไล่นก ชนวนดำใช้กับพลุมีคนงานประมาณ 30 ราย 

และไม่มีการใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการให้คนงานใช้มือในการบรรจุดินปืนและประกอบส่วนต่างๆ จึงไม่เข้าข่ายการเป็นโรงงานที่ต้องมีคนงานเกิน 50 ราย และใช้เครื่องจักรประกอบกิจการ 

โดยผู้ประกอบกิจการรายนี้มีใบอนุญาตเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง เป็นการออกให้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490  อยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย  และได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และไม่พบว่าสารโพแทสเซียมคลอเรตที่ใช้ในการจัดทำดอกไม้เพลิงนี้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่ออกตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้สถานประกอบการลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นโรงงาน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทั้งใน และรอบๆ สถานประกอบการ 

“พิมพ์ภัทรา”จ่อดึงสถานประกอบการผลิตพลุเข้าข่ายเป็นโรงงาน หลังเหตุระเบิด

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นอาจต้องกำหนดให้การประกอบกิจการประเภทดังกล่าวนี้เข้าข่ายเป็นโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้เข้าไปมีส่วนกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการ กำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม 

ทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความรอบคอบรัดกุม เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะนี้อีก หลังจากที่ผ่านมาช่วงเดือนก.ค. 66 เคยเกิดเหตุการณ์โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งแรงระเบิดทำให้พื้นที่ชุมชุมโดยรอบกว่า 500 เมตร เสียหายอย่างหนัก มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมากมาแล้วเช่นกัน  

นางสาวภิมภ์ภัทรา กล่าวอีกว่า หลังจากเกิดเหตุได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และให้รายงานกลับมา 

"เบื้องต้นแม้ว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมตรง แต่ได้ให้หน่วยงานเข้าไปให้ความรู้และสนับสนุนการจัดความความปลอดภัยในโรงงานผลิตดอกไม้เพลิง และตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะนำสถานประกอบการลักษณะดังกล่าวเข้าเป็นโรงงานหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนโดยรอบพื้นที่ และในตัวสถานประกอบการเองด้วย”