นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำกลไกการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นความท้าทายระดับโลก โดยได้มีคาดการณ์ว่า ในปีพ.ศ. 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ทั่วโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 10% ประเทศไทยจึงมีนโยบายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC COP ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปีพ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2608
ขณะที่ในต่างประเทศได้เริ่มใช้เงื่อนไขทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) เช่น สหภาพยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการ นอกสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน อาจมีการพิจารณาการใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันในอนาคต
ดังนั้นแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะเป็นการพัฒนาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโลกไปสู่ความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจในทุกระดับจึงต้องดำเนินการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันจากนโยบายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นขึ้นในอนาคต
"ส.อ.ท. จึงได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมความพร้อม และยกระดับการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตในสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริม และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ การรับประกัน และการรับรองในระดับสากล เพื่อยกระดับการประกอบการอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการทุกขนาด"
นางอภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงร่วมกับ ส.อ.ท. โดยสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งโดยมากแล้วยังขาดองค์ความรู้และบุคลากรในการปรับตัว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ทัดเทียมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่า
โดยเริ่มต้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม การท่องเที่ยว พลาสติก สิ่งทอ และอาหาร ซึ่งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิยัติการรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว และพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้และความสามารถในการจัดการ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการยกระดับโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวให้สามารถเชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและเศรษฐกิจระดับมหภาค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง