"หมูเถื่อน" ไม่จบ ชิปปิ้งลุยฟ้อง ปศุสัตว์-ด่านกักกัน เรียกชดใช้ 89 ล้าน

16 ม.ค. 2567 | 14:59 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2567 | 15:41 น.
3.9 k

"ศิขัณทิน เทรดดิ้ง" ยื่นฟ้อง กรมปศุสัตว์ ,อธิบดีกรมปศุสัตว์ และหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ต่อศาลปกครองกลาง เหตุถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำลายสินค้าโดยยังไม่ได้ข้อยุติทางคดี

KEY

POINTS

  • บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด หนึ่งในผู้ต้องหา คดีหมูเถื่อน  ยื่นฟ้อง กรมปศุสัตว์ ,อธิบดีกรมปศุสัตว์ และหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ต่อศาลปกครองกลาง
  • "ศิขัณทิน เทรดดิ้ง" ยืนยันดำเนินการขออนุญาติผ่านสินค้าตามกฎหมาย แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำลายสินค้าโดยยังไม่ได้ข้อยุติทางคดี
  • "ศิขัณทิน เทรดดิ้ง" เรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดี 3 ราย เกือบ 90 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จํากัด โดยนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการ มอบอำนาจให้ ทนายความยื่นฟ้อง กรมปศุสัตว์ ,อธิบดีกรมปศุสัตว์ และหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ มีคำพิพากษาเพิกถอนคําสั่งทําลาย สินค้า (ซากสุกร) ตามหนังสือด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ที่ (กษ) 0621(ชบ) /1555 ลงวันที่ 28 กันยายน 2566 และคําสั่งทําลายสินค้า (ซากสุกร) ตามหนังสือ กรมปศุสัตว์ที่ กษ 604/21801 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2566

รวมทั้งขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคําสั่งยกอุทธรณ์ตามหนังสือกองสารวัตรและกักกัน ที่ กษ 0621/2566 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และเรียกมูลค่าชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ราย รวม 89,402,799.91 บาท  พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จ โดยระหว่างนี้ ได้ร้องขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการการบังคับตามคําสั่งทําลายสินค้า (ซากสุกร) และคําสั่งที่วินิจฉัยยกอุทธรณ์ด้วย

นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ

สำหรับรายละเอียดในร่างคำฟ้อง อันนำมาสู่คำขอต่อศาลปกครองกลาง ของบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง นั้น ได้บรรยายถึงความเสียหายอันเกิดจากการใช้อำนาจ ในการออกกฎ คำสั่ง หรือการใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยโดยมิชอบ ซึ่งบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จํากัด ได้อ้างถึง ความเร่งรีบทำลายสินค้า ซึ่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อหมูแช่แข็ง และชิ้นส่วนต่างๆทั้งหมด 38 ตู้  ว่าเป็นการตอบสนองต่อข้อเร่งรัดในทางการเมือง ว่าให้ปราบปรามการนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนตามกระแสสังคม 

พร้อมกันนี้ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง ยืนยันว่า บริษัทเป็นเพียงผู้ขออนุญาตนำผ่าน ไม่ใช่ผู้ขออนุญาตนำเข้า และได้ดำเนินการขออนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ในขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ทั้งยังไม่มีการตรวจสอบโรคระบาดในเนื้อสุกรแช่แข็งของทางบริษัทก่อนออกคำสั่งทำลายสินค้า จึงถือเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อมาตรฐาน และแนวทางปฏิบัติตามปกติของผู้มีวิชาชีพด้านปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์

ทางบริษัทมีความเห็นว่าเมื่อยังไม่ได้ข้อยุติทางคดีว่าสินค้าดังกล่าวฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ หากมีการทำให้สินค้าเสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยาได้ และสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอำนาจศาลอีกด้วย 

ทั้งนี้ บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เป็น 2 บริษัทชิปปิ้ง ที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ได้ตั้งข้อกล่าวหาฐานนำของผ่าน หรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งขยายผลมาจากคดีหมูเถื่อน 161 ตู้  

โดยนายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของทั้ง 2 บริษัท ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ