“เศรษฐา” ประกาศตั้งงบประมาณปี 2568 สำรองเงินทำ “ดิจิทัลวอลเล็ต”

12 ม.ค. 2567 | 16:51 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 16:59 น.

นายกฯ “เศรษฐา” มอบนโยบายจัดทำงบประมาณ ปี 2568 ประกาศตั้งงบประมาณไว้ เผื่อไว้ทำโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมตั้งเป้าหมายเศรษฐกิจประเทศไทย 4 ปีจะต้องโตเฉลี่ย 5%

วันนี้ (12 มกราคม 2567) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจะตั้งงบประมาณเผื่อไว้สำหรับการดำเนิน โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

“ทุกคนทราบว่าหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลนี้คือการทำ Digital Wallet ให้สำเร็จ แม้ว่าในวันนี้ เราจะเดินหน้าออก พ.ร.บ. กู้เงินก็ตาม แต่ก็ขอให้ไม่ลืมที่จะตั้งงบประมาณเผื่อไว้ ในกรณีที่ต้องใช้พัฒนาและดำเนินโครงการด้วย แต่ขอให้ตั้งอย่างสมเหตุสมผล ในปีงบประมาณ 2568 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม” นายกฯ ระบุ

 

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

สำหรับจุดประสงค์ของการประชุมวันนี้ นายกฯ ระบุว่า ขอมอบนโยบายและกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

ทั้งนี้ในช่วงการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา ได้เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคน

รับเข้ามาบริหารประเทศเจอความท้าทาย

นายกฯ ระบุว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารในช่วงที่ประเทศประสบความท้าทายในเรื่องความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน ปัญหาการส่งออกชะลอตัวลง ภูมิรัฐศาสตร์โลกใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยการรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากภัยพิบัติและมลพิษที่รุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสวัสดิการภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น จนเป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ มีกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่น ภาระหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนพุ่งสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงขึ้น การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราภาษีที่ยังขาดความเป็นธรรม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และยาเสพติด ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

ชี้รายได้ต่อหัวคนไทยยังต่ำ

นายกฯ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า รายได้ต่อหัวของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย เราต่ำกว่าเขาตลอด อันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศก็แทบไม่ขยับ แรงงานจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร มีผลิตภาพต่ำและประสบปัญหาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน เข้าไม่ถึงระบบชลประทานและแหล่งน้ำ ครัวเรือนเกษตรติดกับดักหนี้ที่เกินศักยภาพที่จะชำระได้ 

รวมทั้งยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่า และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง และปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ และสังคม 

ปัญหาเหล่านี้ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล จึงขอให้ทุกหน่วยงานยึดตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเป็นหลัก นโยบายที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลนี้ จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนสบายใจได้ว่าภาษีของพวกเขาถูกใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

บริหาร 4 เดือนดันนโยบายเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจ แม้ 4 เดือนที่ผ่านมาจะเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน รัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายหลายประการบนงบประมาณไปพลางก่อน และอีกหลายนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้ผลักดันโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ นโยบายที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุม 8 กลุ่มย่อยได้แก่ 

  1. พลังงาน
  2. เกษตร
  3. ท่องเที่ยว
  4. โครงสร้างพื้นฐาน
  5. การดึงดูดการลงทุน
  6. การทูตเชิงรุกและการค้าชายแดน
  7. Soft Power
  8. ค่าแรงขั้นต่ำ

โดยเป้าหมายยังชัดเจนเหมือนเดิม เศรษฐกิจประเทศไทย 4 ปีจะต้องโตเฉลี่ย 5% ให้ได้

 

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

 

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายทั้งหมดของรัฐบาลที่ตนเองกล่าวไปนั้น จะต้องอาศัยการทำงานบูรณาการกันเป็นอย่างมาก มีความเชื่อมโยงหลายส่วน การจัดทำงบประมาณ จะต้องขอให้สำนักงบประมาณช่วยคอยดูทั้งตัวชี้วัด งบประมาณที่ขอ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และต้องดูรายละเอียดเนื้อหาให้ถี่ถ้วนด้วยว่าตอบโจทย์ของรัฐบาลหรือไม่ ในปีงบประมาณ 68 จะเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องจากปี 67 

โดยช่วงเวลาการทำงานจะทับซ้อนกัน จึงขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการ เพื่อผลักดันให้การจัดทำงบประมาณตอบโจทย์ความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดทำคำของบประมาณที่สอดคล้องกับจุดเน้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 142 ประเด็น สำนักงบประมาณจึงอยู่ระหว่างดำเนินการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรุงปฏิทินงบประมาณ โดยขยายระยะเวลาการจัดส่งคำขอได้ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป