รัฐบาล ยืนยันความพร้อมเจรจา “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา”

11 ม.ค. 2567 | 18:37 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2567 | 18:41 น.

ความคืบหน้าการเจรจา “พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา” ล่าสุด รัฐบาล ยืนยันความพร้อม โดยนายกฯทั้งสองประเทศเตรียมหารือในวันที่ 7 ก.พ.นี้ หาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งสองประเทศ เพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน

การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลกำลังมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันความพร้อมที่จะรับฟังและหารือกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในโอกาสการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567

ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังและหารือกับกัมพูชา เพื่อพิจารณานำไปสู่การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (overlapping claims area – OCA) บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล ซึ่งมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง 

ทั้งนี้รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน โดยนายกรัฐมนตรีจะพยายามแสวงหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งสองประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกัน 
 

นายชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า มิตรภาพและการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความเป็นมิตรกับทุกประเทศ จะทำให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง เพื่อประโยชน์ร่วมกัน แก่ประเทศและประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเร่งเจรจากรณีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ส่วนหนึ่งก็เพื่อนำทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนมาแบ่งปันเพื่อใช้ประโยชน์ 

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกโอกาสในการแก้ปัญหาค่าพลังงานในประเทศไทย โดยก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศอีกด้วย 

ด้านนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เรื่องพื้นที่ทับซ้อนบริเวณไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันและเจรจากันมานาน แต่ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายหยิบยกขึ้นมา ถ้าเป็นฝ่ายกัมพูชาหยิบยกขึ้นมา ก็คงรับมาพิจารณา และคงต้องรอให้นายกฯ หารือกันก่อน หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงที่จะต้องไปดำเนินการ