พาณิชย์ ชี้โอกาสทอง 2 สินค้าไทย บุกตลาดแบบไม่คิดอะไรมากในไต้หวัน

10 ม.ค. 2567 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 10:36 น.

พาณิชย์ เปิดผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวันในปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 พบโอกาสทองผู้ประกอบการไทย เจาะตลาดสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยม 2 รายการในไต้หวันที่กำลังโอกาสการเติบโตที่สดใส

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจาก นางสาวกัลยา ลีวงศ์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ถึงแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวันในปี 2566 แนวโน้มในปี 2567 และโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดไต้หวัน

โดยทูตพาณิชย์ ได้รายงานข้อมูลว่า iSURVEY บริษัทด้านการสำรวจตลาดชื่อดังของไต้หวัน ได้ประกาศผลการสำรวจแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของชาวไต้หวันในปี 2567 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริโภคชาวไต้หวันใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรับประทานอาหารนอกบ้าน และรู้สึกชินชากับภาวะเงินเฟ้อ 

จนทำให้เกิด "การบริโภคในแบบไม่คิดอะไรมาก" และยอมจับจ่ายเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง และผู้บริโภคชาวไต้หวันยังมีการใช้จ่ายเพื่อการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ออกกำลังกายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และคาดว่าพฤติกรรมการบริโภคในลักษณะนี้ จะยังคงต่อเนื่องไปในปี 2567

ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลว่าผู้บริโภคชาวไต้หวัน มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพื่อความงามของตัวเองมากขึ้น โดย iSURVEY เห็นว่า หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเวลาประมาณ 3 ปี ในปีนี้ผู้บริโภคได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติในการพบปะสังสรรค์มากขึ้น จนแทบไม่มีการรักษาระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อความงดงามส่วนบุคคลกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง 

โดยในปี 2566 ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในการซื้อเครื่องสำอางโดยเฉลี่ย คิดเป็นมูลค่า 1,145 บาทต่อเดือน เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2565 ที่มีมูลค่า 1,096 บาทต่อเดือน และการออกกำลังกายและกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการแคมป์ปิง

ขณะเดียวกัน ในปี 2566 ผู้บริโภคมีการค้นหาสินค้าใกล้หมดอายุ และสินค้ามีตำหนิเพิ่มมากขึ้น โดย 73% ของผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าใกล้หมดอายุที่มีการลดราคาในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงก่อนการเลือกซื้อสินค้าปกติ และมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ยินดีเปลี่ยนแบรนด์ที่เคยซื้อประจำ หากสามารถค้นพบสินค้าที่ทดแทนได้ในราคาที่ถูกกว่า 

แสดงให้เห็นว่า Brand Loyalty ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคชาวไต้หวัน เพราะหากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและหันไปซื้อสินค้าอื่นที่คิดว่าทดแทนกันได้

นายภูสิต กล่าวว่า แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคไต้หวัน ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับสินค้าและบริการของไทยที่มีศักยภาพในตลาดไต้หวัน 2 รายการ นั่นคือ

1.สินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยสินค้าแบรนด์ไทยในไต้หวันกำลังเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวไต้หวันมากขึ้น โดยมีแบรนด์ไทยเข้ามาวางจำหน่ายทาง Modern Trade ในไต้หวันประเภทร้าน Chain Store ยาและเครื่องสำอาง เช่น POYA, Cosmed, Watsons เป็นต้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้

2.ร้านอาหารไทย ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไต้หวัน โดยมีแบรนด์ เช่นร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียงในไต้หวัน ทั้งในส่วนที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของไต้หวัน เช่น Thai Town , Siam More หรือ A Do รวมไปจนถึง Chain ร้านอาหารจากไทย เช่น Nara ส้มตำเด้อ หรือบ้านผัดไทย เป็นต้น