สำรวจ "ค่าแรงขั้นต่ำไต้หวัน" วันละ 994 บาท โอกาสของแรงงานไทย   

12 ธ.ค. 2566 | 15:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2566 | 16:35 น.
4.1 k

"ไต้หวัน" เป็นตลาดยอดนิยมอันดับหนึ่งของแรงงานไทย ตัวเลขจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุมีแรงงานไทยในไต้หวันล่าสุด 49,820 คน ด้วยอัตราค่าจ้างและสวัสดิการดึงดูดใจ ความสงบเรียบร้อย รวมถึงวัฒนธรรมและอาหารการกินที่ไม่แตกต่างจากบ้านเรามากนัก

ข้อมูลจาก กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ไต้หวัน ประสบ ภาวะขาดแคลนแรงงาน อย่างหนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 เป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันอนุญาตให้นายจ้าง นำเข้าแรงงานต่างชาติ ได้ โดยมีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวัน (Workforce Development Agency, Ministry of Labor) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลนโยบายและการบริหารแรงงานต่างชาติ 

ทั้งนี้ ไต้หวันจะเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้เฉพาะกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน โดยคุณสมบัติของนายจ้างและเงื่อนไขขั้นตอนการนำเข้าต้องเป็นกิจการที่ขาดแคลนแรงงานจริง โดยเฉพาะกิจการที่เป็นงานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย กระทรวงแรงงานเป็นผู้กำหนดโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติของแต่ละกิจการตามความรุนแรงของสภาพการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงภาคการก่อสร้าง ผู้อนุบาลดูแลคนป่วยและคนสูงอายุในครัวเรือนและในสถานพักฟื้น

ในส่วนภาคการเกษตร รัฐบาลไต้หวันทดลองเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากฟาร์มโคนม และการจ้างเหมาบริการภาคการเกษตร ประเภทละ 400 คน ต่อมาในปี 2563 ได้ขยายการนำเข้าแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตรในสาขาต่างๆ อาทิ ฟาร์มสุกร แพะ เป็ด ไก่ ฟาร์มกล้วยไม้ เพาะเลี้ยงเห็ด สวนผัก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น

รัฐบาลไต้หวันทดลองเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติสู่ภาคการเกษตรได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา

สำหรับโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยนั้น ไต้หวันจะกำหนดโควตาของแต่ละประเภทกิจการ เช่น ภาคการผลิต อุตสาหกรรมประเภท 3K (ได้แก่ งานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย) จะได้รับการจัดสรรโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติตามประเภทกิจการ โดยแบ่งตามอัตราส่วน 5 ระดับ ได้แก่ ร้อยละ 10 ร้อยละ 15 ร้อยละ 20 ร้อยละ 25 และร้อยละ 35 ของยอดจำนวนแรงงานท้องถิ่นที่ว่าจ้าง

หากเป็นกิจการที่เป็นงานหนัก งานสกปรก และงานอันตรายมากยิ่งขึ้น จะได้รับโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติมากขึ้น ทั้งนี้ นายจ้างที่ได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อความมั่นคงในการทำงานของแรงงานท้องถิ่น จำนวน 2,000 ดอลลาร์ไต้หวัน/คน/เดือน

อุตสาหกรรมประเภท 3K (ได้แก่ งานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย) จะได้รับการจัดสรรโควตาการนำเข้าแรงงานต่างชาติตามประเภทกิจการ

กรณีสัดส่วนการนำเข้าแรงงานต่างชาติดังกล่าว หากยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงานไต้หวันได้ประกาศมาตรการให้นายจ้างที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับข้อกำหนด สามารถขอโควตาพิเศษเพิ่มเติมได้จากโควตาเดิมที่ได้รับอยู่แล้ว แต่เมื่อรวมกับโควตาเดิมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 40 โดยนายจ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่มตามร้อยละโควต้าพิเศษที่ได้รับเพิ่มด้วย

ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แนวโน้มและโอกาสแรงงานไทย

ปัจจุบัน ไต้หวันยังคงมีความต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นผลมาจากประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น จากรายงานการคาดการณ์ประชากรของสภาพัฒนาแห่งชาติ ไต้หวัน (พ.ศ.2563-2613) พบว่า ไต้หวันจะกลายเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2568 โดยมีประชากรสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ในขณะที่อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำ

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นมา ไต้หวันได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นสำหรับแรงงานทั่วไป (แรงงานไร้ฝีมือ)ในภาคการผลิต ก่อสร้าง และเกษตร เป็น เดือนละ 26,400 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 29,832 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ไต้หวัน เท่ากับ 1.13 บาท) หรือเท่ากับ ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 880 ดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 994 บาท) ไม่รวมแรงงานภาคสวัสดิการสังคม ซึ่งจะทำให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และดึงดูดแรงงานต่างชาติให้มาทำงานที่ไต้หวันมากขึ้น โดยไต้หวันเองก็ยังคงต้องการแรงงานต่างชาติในหลายภาคส่วน อาทิ 

แรงงานทั่วไป (แรงงานไร้ฝีมือ)

แรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาล : 
จากภาวะการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไต้หวันส่งผลให้มีความต้องการแรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาลจำนวนมาก ซึ่งในสาขาดังกล่าวแรงงานอินโดนีเซียครองตลาดผู้อนุบาลสูงสุด โดยมีจำนวนผู้อนุบาลมากกว่า 160,000 คน ตามด้วยเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนไทยมีจำนวนประมาณ 400 คน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าที่นายจ้างให้ความไว้ใจ และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากตำแหน่งไม่เป็นที่นิยมของแรงงานไทย อีกทั้งเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง รวมถึงอาศัยร่วมกับเจ้าของบ้าน และไม่ได้รับความคุ้มครองจากกองทุนประกันภัยแรงงานเหมือนแรงงานในภาคส่วนอื่น แรงงานไทยจึงนิยมทำงานในภาคการผลิตที่มีความเป็นส่วนตัวและมีกิจกรรมทางสังคมสูงกว่า

การเข้าสู่สังคมสูงอายุของไต้หวันส่งผลให้มีความต้องการแรงงานต่างชาติในตำแหน่งผู้อนุบาลจำนวนมาก

แรงงานต่างชาติภาคก่อสร้าง :
ไต้หวันมีโครงการก่อสร้างที่สำคัญหลายโครงการ และมีความต้องการแรงงานก่อสร้างจำนวนมาก อาทิ โครงการก่อสร้างอาคาร 3 ของท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน โครงการก่อสร้างและขยายรถไฟฟ้า รวมถึงโครงการต่างๆ ภายใต้นโยบายพลังงานสีเขียว เป็นต้น 

แรงงานต่างชาติภาคการผลิต : 
ในปีที่ผ่านมา (2565)อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ผู้ส่งออกไต้หวันเผชิญกับการลดลงของอุปสงค์ทั่วโลกในช่วงครึ่งหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอัตราเงินเฟ้อซึ่งกระตุ้นให้เกิดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงโดยธนาคารกลางรายใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ใช้จ่าย นอกจากนี้ การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน ที่ส่งผลให้อุปสงค์ทั่วโลกปั่นป่วน อย่างไรก็ตาม นายจ้างยังคงมีความต้องการแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง 

แรงงานต่างชาติภาคเกษตร :

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ไต้หวันอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติเป็นครั้งแรกเพื่อตอบสนองภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนดังกล่าวเนื่องจากประชากรในชนบทมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งแรงงานท้องถิ่นในภาคการเกษตรมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากไต้หวันประกาศเปิดพรมแดนเมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยปรับการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19 (หลังจากที่มีการควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) นายจ้างไต้หวันมีความต้องการแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ปัจจุบัน มีการอนุมัติการยื่นขอจ้างแรงงานไทยมากกว่า 65,000 คน 

แรงงานระดับทักษะฝีมือ

ปัจจุบัน ประชากรวัยทำงานของไต้หวันลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำในขณะที่อัตราประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกลายเป็นแรงกดดันต่อผู้ประกอบการไต้หวันที่มีความต้องการผู้ที่มีทักษะเฉพาะด้าน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีการวางแผน 3 ด้าน คือ

  1. การสรรหาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ
  2. การดึงดูดและรักษานักศึกษาต่างชาติที่มีพื้นหลังเป็นเชื้อชาติจีน
  3. ส่งเสริมการรักษาแรงงานต่างชาติที่ทำงานในไต้หวัน โดยเฉพาะเยาวชนและสำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออาชีวศึกษา 

ไต้หวันอนุญาต แรงงานที่มีฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาทำงานในสาขาต่างๆ โดยมี อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 47,971 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเดือน (ประมาณ 54,207 บาท) ดังนี้

  1. ผู้บริหารบริษัท และผู้บริหารฝ่ายผลิต
  2. งานด้านเทคนิคหรืองานที่ใช้ทักษะเฉพาะ (วิศวกรหรือนักวิจัยสาขาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือวิศวกรรม รวมทั้งผู้ช่วยด้านดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาและสุขภาพ รวมทั้งผู้ช่วยฯ นักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้า ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการบริหารธุรกิจ สถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์)
  3. ครูอาจารย์ในสถานศึกษา หรือในสถาบันกวดวิชาที่ทำงานเต็มเวลา
  4. ผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬา
  5. เชฟ ทั้งนี้ หากระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีต้องมีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 5 ปี หากระดับปริญญาตรีต้องมีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2 ปี สำหรับปริญญาโทขึ้นไปไม่ต้องมีใบผ่านงาน

การยกระดับแรงงานกึ่งฝีมือ 

กระทรวงแรงงานไต้หวันมีประกาศ วันที่ 30 เมษายน 2565 ให้นายจ้างสามารถยื่นขอว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่มีอายุการทำงานต่อเนื่องครบ 6 ปีขึ้นไป หรือมีอายุงานสะสมครบตามระยะเวลาที่กฎหมายการจ้างงานกำหนด 12 ปี หรือ 14 ปี ทั้งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง ลูกเรือประมง เกษตร และแรงงานต่างชาติในภาคสวัสดิการสังคม (ผู้อนุบาลในองค์กรและในครัวเรือน) ที่มีทักษะฝีมือ และนายจ้างยินยอมจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์กำหนด เป็น "แรงงานกึ่งฝีมือ" ได้ โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลาทำงานเหมือนแรงงานต่างชาติทั่วไป  เมื่อทำงานในสถานะแรงงานกึ่งฝีมือต่อเนื่องครบ 5 ปีแล้ว สามารถขอถิ่นที่อยู่ถาวรได้ด้วย สมารถตรวจสอบเงื่อนไขและขั้นตอนการยกระดับแรงงานต่างชาติทั่วไปเป็นแรงงานกึ่งฝีมือแรงงานกึ่งฝีมือ ที่นี่ 

ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงแรงงาน และ สำนักงานแรงงานไทย ณ ไทเป