"หอการค้า" มั่นใจ "Easy e-Receipt - เงินดิจิทัล" ช่วยปลุกเศรษฐกิจ

09 ม.ค. 2567 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2567 | 14:47 น.

"สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าฯ วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 67 มั่นใจโตต่อเนื่อง ได้โมเมนตัมท่องเที่ยวคึกคัก-โครงการ Easy E-Receipt ช่วยเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 4-6 หมื่นล้านบาท ลุ้นดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านแจ้งเกิด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 1.0-1.5%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา ได้เห็นถึงบรรยากาศความคึกคักของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะอีเวนต์ ต่าง ๆ ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ที่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาพรวมตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งปี 2566 ใกล้เคียง 28 ล้านคน

ประกอบกับการยกเลิกวีซ่าระหว่างไทย-จีน เชื่อว่าส่วนนี้จะเป็นโมเมนตัมสำคัญต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1/2567 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของไทย ทำให้การท่องเที่ยวและบริการยังคงเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่อง

ขณะที่นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy E-Receipt จะช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 4-6 หมื่นล้านบาท และหากโครงการดิจิทัล วอลเล็ตสามารถดำเนินการได้จริงตามแผน คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 1.0 - 1.5%

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“หอการค้าฯ หวังว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2567 จะสามารถเติบโตได้อย่างน้อย 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566 ที่อยู่ในระดับ 2.7% ส่วนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่เป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ไทยและกิจกรรมสงกรานต์ที่พึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมด้วยหอการค้าฯ จะมีการยกระดับอีเวนต์สงกรานต์ให้เป็น Festival ระดับโลก รวมถึงกิจกรรมด้านการส่งเสริม Soft power ไทยตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ไปสู่เป้าหมาย 35 ล้านคนต่อไป

ส่วนในภาคการส่งออก หอการค้าไทยคาดว่าจะเติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว แม้ว่าสถานการณ์ต่างประเทศทั้ง Geopolitics ความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศที่ยังไม่มีข้อสรุป แต่สินค้าส่งออกหลายประเภทของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้ เช่น อาหารและผลไม้ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางพารา มันสำปะหลัง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการรุกตลาดใหม่ ๆ อย่างตะวันออกกลาง อินเดีย และแอฟริกา ที่เป็นตลาดมีศักยภาพสูง

ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ คาดในปีนี้จะมีเข้ามาเพิ่มเป็นจำนวนมาก จากการทำงานเชิงรุกของรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานสะอาด ตลอดจนอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง โดยการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี(FTA) กับหลายประเทศที่ยังอยู่ในกระบวนการหากแล้วเสร็จจะยิ่งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคในอนาคต

“หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2567  GDP น่าจะขยายตัวได้ 3.2% (ยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) การส่งออกพลิกกลับมาโตได้ที่ 2-3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในระดับ 2% และหนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 87.8% ต่อ GDP”

สำหรับประเด็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาวาระ 1 แล้ว ภาคเอกชนเห็นว่ามีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศอย่างมาก ส่วนในระหว่างการรองบประมาณ ปี 67 ที่คาดว่าเริ่มใช้ในเดือนพฤษภาคม หอการค้าฯ อยากให้รัฐบาลหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน

รวมถึงเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากงบประมาณประจำปีฯ ประกาศใช้เป็นทางการ รัฐบาลอาจมีเวลาเพียง 5 เดือนเศษในการใช้จ่ายงบประมาณ หอการค้าฯ จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีแผนเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่แต่ละพื้นที่และเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสม

นายสนั่น กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้มีกระแสพูดถึงเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมุมมองวิชาการถือเป็นความพยายามของ ธปท.ในการสกัดเงินเฟ้อที่สูง ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากในช่วงปีที่แล้ว รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไม่ให้ห่างกันมากจนเกินไป ซึ่งต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบโดยตรงกับต้นทุนกู้ยืมของผู้ประกอบการและประชาชน

ทั้งนี้ หลายฝ่ายยังคงติดตามสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงใด และหวังว่า ธปท. จะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่วนกรณีที่ Fed มีการปรับลดดอกเบี้ยลงหลังจากนี้ ธปท. คงจะมีการปรับลดดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยต่อไป ด้านตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน น่าจะมาจากการปรับลดเชิงเทคนิคตามนโยบายการลดภาระค่าของชีพด้านพลังงานของภาครัฐทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง แต่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีการปรับขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงพอมีกำลังซื้ออยู่บ้าง

โดยเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ 1.23% ขณะที่นโยบายการคลังที่รัฐบาลกำลังดำเนินการทั้ง การยกเว้นวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว,  โครงการ Easy E-Receipt, รวมถึงการผลักดันโครงการ Digital Wallet จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2.0 - 2.5% ภายใต้กรอบเป้าหมายของกระทรวงการคลัง และ ธปท. ที่ 1 – 3%  อย่างไรก็ตาม ในมุมของหอการค้าฯ ยังเห็นว่าหากธนาคารสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยลดภาระประชาชน ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก จะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในวันพุธ (10 ม.ค.2567) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงจะมีการหารือ ในประเด็นดังกล่าวร่วมกันต่อไป