"สภาสถาปนิก"ออกกฎกำหนดลักษณะต้องห้าม"สถาปนิก"เพิ่ม

26 ธ.ค. 2566 | 16:32 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2566 | 16:42 น.

สภาสถาปนิก เปิดรับฟังความเห็น ข้อบังคับ กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พร้อมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพิ่มเติม

26 ธันวาคม 2566 สภาสถาปนิกเปิดรับฟังความเห็น  ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เพื่อกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เพิ่มเติมในข้อ 4 (8)

โดยผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดา จะต้องไม่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้ยื่นขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิก และต้องไม่เป็นผู้ถูกภาคทัณฑ์ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาตามที่คณะกรรมการจรรยาบรรณวินิจฉัยแต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ถูกภาคทัณฑ์ ทั้งนี้ ถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ยังเปิดรับฟังความเห็น ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ....

โดยประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายหรือกฎหมายที่นำมารับฟังความคิดเห็น คือ แก้ไขความหมาย คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพ” ในข้อ 4 ให้รวมถึง สมาชิก และสถาปนิกต่างชาติขึ้นทะเบียน ตัดคำว่า “ควบคุม” ออกจากคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพในงานสถาปัตยกรรมควบคุม” ในข้อ 8 ข้อ 10 ข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 15 และข้อ 17 โดยใช้คำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพในงานสถาปัตยกรรม” เพื่อให้บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการจรรยาบรรณ กระบวนการพิจารณาการประพฤติผิดจรรยาบรรณครอบคลุมถึงกรณีสมาชิกสภาสถาปนิก และสถาปนิกต่างชาติขึ้นทะเบียน

ขณะเดียวกันยังได้กำหนดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมเพิ่มเติมในข้อ 18/1 ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่กระทำการใด ๆ ให้เสียหายแก่ผู้ว่าจ้างในงานที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่รับทำ โดยอาศัยประโยชน์จากความเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

ที่มา : www.law.go.th , ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามฯ , ร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมฯ