ครม.หั่นนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น เหลือปีต่อปี

26 ธ.ค. 2566 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ธ.ค. 2566 | 15:43 น.
1.1 k

ครม. หั่นข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายอาหาร ชงมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น จากรอบละ 3 ปี เหลือแค่ปีต่อปี ฟังเหตุผลรัฐบาลเหตุใดถึงตัดสินใจใช้ไม้แข็ง

วันนี้ (26 ธันวาคม 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (26 ธันวาคม 2566) มีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น รอบใหม่เป็นปีต่อปี ลดลงจากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายอาหาร เสนอมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2569 

นายชัย กล่าวว่า แนวคิดนี้เป็นมานานแล้วหลายรัฐบาล โดยก่อนจะถึงครม.วันนี้ ครม.เคยอนุมัติการนำข้าให้รอบละ 3 ปี คือรอบปี 2564-2566 และในการนำเสนอมาครั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายอาหาร ก็เสนอมาว่าให้ต่อเหมือนเดิมทุกประการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2569 ด้วยเงื่อนไขเหมือนเดิมทุกประการ 

แต่ครม.ได้คุยกันว่า เนื่องจากรัฐบาลนี้มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ จะไม่มีการเผาตอซัง และในช่วงนับจากนี้ไปพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุก ๆ ปี เมื่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ได้สิทธิการนำเข้าอาหารสัตว์ จะต้องรักษาข้อตกลงในการรับซื้อผลผลิตในประเทศอย่างเต็มที่ ครม.จึงขอตัดเหลือแค่ 1 ปีเท่านั้น

 

ครม.หั่นนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น เหลือปีต่อปี

 

“ครม.ได้ขอตัดจาก 3 ปี เหลือแค่ 1 ปี หรือปีต่อปี แล้วค่อยพิจารณาอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ได้สิทธิการนำเข้าอาหารสัตว์แล้ว ต้องซื้อวัตถุดิบในประเทศตามที่ตกลงไว้ แสดงให้เห็นชัดว่า นโยบายของรัฐบาลเข้าใจดีว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่พอ แต่รัฐบาลก็ต้องการสร้างหลักประกันให้เกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบมีหลักประกันว่าผู้นำเข้าต้องซื้อวัตถุดิบทั้งหมดในราคาที่เป็นธรรม” นายชัย ระบุ 

สำหรับเหตุผลของการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้ง 3 ชนิด นั้น เป็นผลมาจากปัจจุบันประเทศไทยไม่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งหมดเข้ามาในประเทศ แยกเป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันผลิตได้ต่ำกว่าปีละ 5 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้มามากถึง 8 ล้านตัน หรือต้องนำเข้าประมาณ 3 ล้านตัน 
  • กากถั่วเหลือง ผลิตได้ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านตัน แต่ความต้องการใช้มามากถึง 4.2 ล้านตัน หรือต้องนำเข้าประมาณ 2.2 ล้านตัน 
  • ปลาป่น ผลิตได้ต่ำกว่าปีละ 3 แสนตัน แต่ความต้องการใช้มามากถึง 6 แสนตัน หรือต้องนำเข้าประมาณ 3 แสนตัน

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

พร้อมกันนี้ที่ประชุมครม.ยังให้กำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยให้คงนโยบายและมาตรการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2564-2566 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

1.การนำเข้าภายใต้ WTO โดยในโควตา อัตราภาษี 20% ปริมาณ 54,700 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า ส่วนนอกโควตา อัตราภาษี 73% และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 บาท ไม่จำกัดปริมาณ

2.การนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษี 0% (ไม่จำกัดปริมาณ) โดยกำหนดให้ อคส. เป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า ส่วนผู้นำเข้าทั่วไป กำหนดช่วงเวลานำเข้าระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558

3.การนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ในโควตา ภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ โดยต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย สำหรับภาษีในโควตา เพื่อประกอบการนำเข้า ส่วนนอกโควตา ภาษี 65.70% ไม่จำกัดปริมาณ

4.การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่นๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อัตราภาษี 0% ไม่จำกัดปริมาณ

5.การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีกิโลกรัมละ 2.75 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,000 บาท (ไม่จำกัดปริมาณ)

กากถั่วเหลือง 

1.การนำเข้าภายใต้ WTO โดยในโควตา อัตราภาษี 2% ผู้มีสิทธินำเข้าทั้งสิ้น 11 ราย หากมีผู้ยื่นขอมีสิทธินำเข้ารายใหม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการนโยบายอาหารพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม ส่วนนอกโควตา อัตราภาษี 119%

2.การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่นๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษี 0% ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษี 0%

3.การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษี 6% และค่าธรรมเนียมพิศษ ตันละ 2,519 บาท

ปลาป่น 

1. การนำเข้าภายใต้ทุกกรอบการค้า เป็นไปตามข้อผูกพัน เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษี 0% ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษี 0%

2. การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่า 60% อัตราภาษี 6% ปลาป่นโปรตีน 60% ขึ้นไป อัตราภาษี 15%