เปิดโรดแมป AOT ทุ่ม 3.6 แสนล้านพัฒนา 11 สนามบินเข้าพอร์ตโฟลิโอ

23 ธ.ค. 2566 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2567 | 14:02 น.
2.9 k

เปิดโรดแมป AOT ทุ่ม 3.6 แสนล้านพัฒนา 6 สนามบินในมือ รวมถึงการสร้าง 2 สนามบินใหม่ ทั้งยังจ่อรับโอน 3 สนามบินแห่งใหม่จากทย. ซึ่งจะทำให้ทอท.จะมีสนามบินในพอร์ตโฟลิโอเพิ่มขึ้นรวม 11 สนามบินในพอร์ตโฟลิโอ

ปัจจุบันทอท.มีมาร์เก็ตแคป 9 แสนล้านบาท จากการบริหารจัดการ 6 สนามบิน ทั้งยังอยู่ระหว่างขยายศักยภาพสนามบินที่มีอยู่ตามโรดแมปที่วางไว้ การสร้าง 2 สนามบินใหม่ และการจ่อรับโอนสนามบินแห่งใหม่จากทย.ที่ชัดเจนแล้ว 3 แห่ง ทำให้ทอท.จะมีสนามบินในพอร์ตโฟลิโอเพิ่มขึ้นรวม 11 แห่ง และทอท.ต้องกันงบเฉียด 4 แสนล้านบาทในการพัฒนาสนามบินต่างๆเหล่านี้

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.หรือ AOT กล่าวสัมมนาในเวที Go Thailand 2024 ซึ่งจัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ในหัวข้อ “ Next Step ลงทุนไทย” โดยกล่าวถึง “Blue Ocean โอกาสและการพัฒนาท่าอากาศยานของทอท.” ว่าขณะนี้มีแผนลงทุนทั้งในส่วนของท่าอากาศยานหลัก และท่าอากาศยานภูมิภาคตามโรดแมปที่วางไว้

กีรติ กิจมานะวัฒน์

  • ขยายสนามบินสุวรรณภูมิสูงสุดรับ 150 ล้านคนต่อปี

ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นเมเจอร์ ฮับของไทย ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี เบื้องต้นคาดว่าในปี 2567 ผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด (ปี 2562) อยู่ในระดับ 65 ล้านคน และไต่ระดับไป 80 ล้านคนในปี 2570

ดังนั้นทอท.ต้องไม่หยุดในการขยายขีดความสามารถของสนามบิน ล่าสุดเพิ่งเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) เพิ่มพื้นที่ 2 แสนตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้น 50% เพิ่ม 28 สะพานเทียบ หรือเกือบ 60% รวมถึง APM ขนส่งผู้โดยสารไปยัง SAT 1  ซึ่งเป็นการลงทุนในเฟส 2

เปิดโรดแมป AOT ทุ่ม  3.6 แสนล้านพัฒนา 11 สนามบินเข้าพอร์ตโฟลิโอ

  • เปิดรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ก.ค.นี้

ทั้งเตรียมจะเปิดรันเวย์ 3 ในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งเป็นส่วนการลงทุนในเฟส 3  ที่จะเพิ่มรองรับเที่ยวบินได้อีก 40% จาก 68 เที่ยวบิน/ชม.เป็น 94 เที่ยวบิน/ชม. การพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) การลงทุนในเฟสอื่นๆ อาทิ  แผนพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ที่ได้รับอนุมัติจากครม.แล้ว ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตก (West Expansion) รันเวย์ 4 เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดราว 150 ล้านคนต่อปี

เปิดโรดแมป AOT ทุ่ม  3.6 แสนล้านพัฒนา 11 สนามบินเข้าพอร์ตโฟลิโอ

  • เปิดประมูลสนามบินดอนเมือง เฟส 3 ปลายปี 67

ส่วนสนามบินดอนเมือง จะทุบอาคารโดเมสติกเดิม สร้างเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ การก่อสร้างอาคาร Junction Building (การให้บริการเชิงพาณิชย์) และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 เพื่อเชื่อมกับอาคาร 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ เพื่อรองรับดีมานต์การใช้บริการเที่ยวบินในประเทศที่สูงมากของสนามบินดอนเมือง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ จะประมูลปลายปี 2567 และคาดว่าภายในปี 2570 จะเห็นภาพการบริหารตามแผนนี้

เปิดโรดแมป AOT ทุ่ม  3.6 แสนล้านพัฒนา 11 สนามบินเข้าพอร์ตโฟลิโอ

  • ขยายอาคารผู้โดยสารระหว่าง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต

ขณะที่สนามบินเชียงใหม่ ทอท.จะสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพื่อผลักดันเชียงใหม่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์  และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศ และผลักดันเป้าหมาย International Gateway

ทิศทางการพัฒนาสนามบินของ AOT

ในส่วนของสนามบินภูเก็ต ทอท.จะเพิ่มพื้นที่อาคารระหว่างประเทศเป็นเท่าตัว รวม 12 ล้านคนต่อปี และภายในประเทศอีก 8 ล้านคนต่อ ขณะที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม ส่วนสนามบินหาดใหญ่อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บท

  • เปิดโมเดลสร้าง 2 สนามบินใหม่

อีกทั้งด้วยความที่สนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต เป็นฮับที่มีปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้ง 2 สนามบินมีข้อจำกัดที่มีเพียง 1 รันเวย์  ทอท.จึงมีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ที่จะมี 2 รันเวย์  ได้แก่ “ท่าอากาศยานล้านนา” ที่อ.บ้านธิ จ.ลำพูน  พื้นที่ 8,050 ไร่ วงเงินลงทุน 7 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 21 ล้านคนต่อปี รองรับ 41 เที่ยวบิน/ชม.

รวมถึง “สนามบินนานาชาติอันดามัน” พื้นที่ 7,300 ไร่ วงเงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสารให้ได้สูงสุด 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับ 43 เที่ยวบิน/ชม. ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน คาดว่าในกลางปีหน้าจะสามารถเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดิน และเปิดประมูลก่อสร้าง การดำเนินการก่อสร้างใช้เวลา 7 ปี

  • ต่อจิกซอว์ลงทุนต่อเนื่องหลังโอน 3 สนามบินทย.

ขณะเดียวกันทอท.ยังจะรับโอนสิทธิบริหารจัดการ 3 สนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยานไทย (ทย.) ได้แก่ สนามบินอุดรธานี ปัจจุบันรองรับได้ 3.4 ล้านคนต่อปี ลงทุน 3,500 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 6.5 ล้านคนต่อปี 20 เที่ยวบิน / ชม.  สนามบินบุรีรัมย์ ลงทุน 460 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารได้ 2.8 ล้านคนต่อปี 25 เที่ยวบิน / ชม. และสนามบินกระบี่ ลงทุน 6,400 ล้านบาทเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี 31 เที่ยวบิน / ชม.

ทั้งนี้การรับโอนทั้ง 3 สนามบินที่จะเกิดขึ้น จะทำให้ทอท.มีสนามบินที่จะเป็นเกตเวย์ ในการเดินทางของไทย ครอบคลุมความจำเป็นในการเดินทางทุกภูมิภาคของไทย

โดยหลังทอท.เข้าไปบริหารจัดการก็ต้องมีการลงทุนในการพัฒนาต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินอุดรธานี ที่เปิดมากว่า 20 ปีแล้ว การปรับปรุงคุณภาพบริการ การนำโนฮาวต่างๆมาใช้ เพื่อดึงให้เกิดการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศบินตรงเข้ามา

ขณะเดียวกัน ทอท.จะขับเคลื่อนท่าอากาศยานสีเขียวเพื่อความยั่งยืน เนื่องจาก ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้นเป้าหมายส่วนหนึ่งที่ต้องทำคือ การให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน เพื่อทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น

เปิดโรดแมป AOT ทุ่ม  3.6 แสนล้านพัฒนา 11 สนามบินเข้าพอร์ตโฟลิโอ

โดยเป้าของ ทอท.ต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี โดย 4 ปีหลังจากนี้จะเร่งลดปริมาณคาร์บอน 50% จากการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งในพื้นที่ข้างรันเวย์

อีกทั้งปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลังคาอาคารผู้โดยสาร 10 เมกะวัตต์ และอนาคตจะลงทุนอีก 40 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภายในปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ จากพลังงานแสงอาทิตย์ และจะขยายไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ นอกจากนี้จะผลิตไฟฟ้าส่วนเกินช่วงกลางวันมาใช้ช่วงกลางคืน โดยหาเทคโนโลยีปรับพลังงานเป็นไฮโดรเจน รวมทั้งยังชวนผู้ประกอบการปรับรถในพื้นที่ท่าอากาศยานให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าใน 4 ปี

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ทอท.ทำงานร่วมกับสายการบิน ลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ SAF ซึ่งการตื่นตัวครั้งนี้ นับเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกด้วย เพราะหากไม่ปรับตัวสายการบินก็จะโดนเรียกเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นในเส้นทางบิน อาทิ ยุโรป