ทอท.ทุ่ม 9.7 หมื่นล้าน ขยาย 6 สนามบินใน 6 ปีนี้ ขับเคลื่อนท่องเที่ยว

26 พ.ย. 2566 | 13:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2566 | 13:39 น.
5.4 k

ทอท. ทุ่ม 9.7 หมื่นล้านบาท ขยายศักยภาพ 6 สนามบิน ภายใต้แผนการลงทุนในช่วง 6 ปีนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2567-2572 ขับเคลื่อนท่องเที่ยวเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ปัจจุบันนอกจากทอท.กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 แล้ว ทอท.ยังมีแผนทุ่มงบอีกราว 9.6-9.7 หมื่นล้านบาท ในอีก 6 ปีข้างหน้านี้ เพื่อเดินหน้าพัฒนา 6 สนามบินในพอร์ตโฟลิโอ ขยายศักยภาพสนามบินที่มีอยู่ ในการรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นประตูหลักในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศ

การขยายสนามบินของทอท.เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร นอกจากจะเพิ่งเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนก.ย. 66 ที่ผ่านมา ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี ทอท.ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของรันเวย์ให้รองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 678 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2567

โดยโครงการเหล่านี้เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงของการขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ที่ดำเนินการมานานหลายปี และกำลังเริ่มทยอยแล้วเสร็จ และขณะเดียวกันทอท.ยังมีแผนขยายศักยภาพใน 6 สนามบินให้เพิ่มขึ้นในช่วง 6 ปีข้างหน้านี้ (ปี 2567-2572) มูลค่าการลงทุนราว 9.6-9.7 หมื่นล้านบาท

แผนขยาย 6 สนามบินของทอท.ปี 2567-2572

 

ทั้งนี้ทอท.คาดว่าในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 66-ก.ย. 67) จะมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการสนามบินของทอท.อยู่ที่ 120-130 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่มีผู้โดยสารบริการ 100.06 ล้านคน ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT เผยว่าในปี 2567 ทอท.จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบิน 6 แห่ง เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร โดยระหว่างปี 2567-2572 จะลงทุนประมาณ 9.6-9.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติแผนการลงทุนแล้ว แต่มีการชะลอแผนในช่วงเกิดโควิด ได้แก่

กีรติ กิจมานะวัฒน์

  • ขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ

โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 8 พันล้านบาทรองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบคาดเปิดประมูลในเดือน มี.ค.ปี 2567 ดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2570 มั่นใจว่าเมื่อโครงการนี้เสร็จจะเป็นการแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารได้ตรงจุด เนื่องจากเป็นการเพิ่มพื้นที่การให้บริการในส่วนของอาคารผู้โดยสารหลักที่มีการขยายออกไปด้านทิศตะวันออกของอาคารเดิม

  • ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3

โครงการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3 มูลค่าการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. ปี 2567 และเปิดประมูลปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573

  • ขยายสนามบินภูเก็ต เฟส 2

โครงการขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 ประมาณ 6,300 ล้านบาท จะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบเพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

  • พัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1

โครงการขยายสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 16.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2571

  • พัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เฟส 1

โครงการพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ระยะที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 6 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR จ้างผู้ออกแบบ เพื่อดำเนินการออกแบบในปี 2567 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

  • ทบทวนแผนแม่บทสนามบินหาดใหญ่

ขณะที่ในส่วนของสนามบินหาดใหญ่ อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บท ให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

ไม่เพียงแต่การลงทุนขยายสนามบินเท่านั้น ทอท.ยังได้ลงทุน จัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ประมาณ 3,000 ล้านบาท เช่นทางเลื่อนชุดใหม่ สนามบินดอนเมือง การจัดหาเครื่องตรวจหนังสือ เดินทางอัตโนมัติ Auto channel เฟสแรก วงเงิน 600 ล้านบาท ทดแทนเครื่องเก่า ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเฟส 2 อีกประมาณ 700-800 ล้านบาท เพื่อใช้แทนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขาออกทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในประเด็นการตรวจสอบข้อมูลบุคคลให้ครบถ้วน

“ทอท.มีความมุ่งมั่นที่จะ พัฒนาศักยภาพของ 6 สนามบินในความรับผิดชอบ และสนามบินในอนาคต เพื่อเตรียมรองรับผู้โดยสารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อันจะนำมาสู่การฟื้นฟูทางด้านอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม” นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้แผนการลงทุนเหล่านี้หลักๆ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของสนามบินที่ทอท.เปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบัน ขณะเดียวกันทอท.ยังวางแผนเผื่อกรณีที่สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ มีการพัฒนาจนเต็มศักยภาพ โดยมีแผนจะสร้าง 2 สนามบินใหม่ ได้แก่ ท่าอากาศยานอันดามัน (พังงา) รองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน ลงทุนราว 7 หมื่นล้านบาท

รวมถึงท่าอากาศยานล้านนา (ลำพูน) ลงทุนอีกราว 7 หมื่นล้านบาท ที่ทอท.จะเร่งดำเนินการหาและจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการลงทุน คาดว่าจะได้ที่ปรึกษาประมาณปลายปีนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาแผนประมาณ 8 เดือน