ทอท.ผุดรันเวย์ 4 สุวรรณภูมิ จี้ตั้งกองทุนสวล.เก็บเงินสายการบิน ชดเชยชุมชน

01 พ.ย. 2566 | 14:47 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 14:48 น.
3.2 k

ทอท.จ่อสร้างรันเวย์ 4 สนามบินสุวรรณภูมิ 1.7 หมื่นล้านบาท เผยมี 2,499 อาคารได้รับผลกระทบด้านเสียง ที่ต้องจ่ายชดเชย ชาวบ้านรอบสนามบินจี้ให้จ่ายชดเชยรันเวย์ 1 และ 2 ที่ ให้ครบก่อนขึ้นรันเวย์ใหม่ จี้ตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม โดยเก็บเงินจากสายการบินบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ล่าสุดบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.หรือ AOT อยู่ระหว่างเตรียมแผนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 (รันเวย์ 4) สนามบินสุวรรณภูมิ และเร่งก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ 3) เพื่อขยายศักยภาพการรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีเพียง 2 รันเวย์ รองรับอากาศยานขึ้นลงสูงสุดได้ 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมงซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารสูงสุดราว 60 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มว่าต่อไปจะมีจำนวนเที่ยวบินในชั่วโมงคับคั่ง เกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับของรันเวย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

  • ทอท.ขยายรันเวย์ 3,4 สนามบินสุวรรณภูมิ

ดังนั้นเพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ทอท.จึงต้องมีการพัฒนาโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 โดยมีความยาวเส้นละ 4,000 เมตร กว้าง 60 เมตร และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลง 

อันเนื่องจากกิจกรรมของสนามบินและกิจกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องในอนาคต เมื่อมีการขยายหรือพัฒนาโครงการจนเต็มขีดความสามารถ (Ultimate Phase) ซึ่งจะสามารถรองรับการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศได้สูงสุด 136 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ประมาณ 120 ล้านคนต่อปี ในปี 2578

โดยในส่วนของรันเวย์ 4 อยู่ด้านตะวันออกขนานกับรันเวย์ 2 จะรองรับปริมาณเที่ยวบิน 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง (มีความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินสูงสุดของทางวิ่ง 136 เที่ยวบินต่อชั่วโมง) ซึ่งจะก่อสร้างทางวิ่งยาว 4,000 เมตร พร้อมระบบทางขับและ Perimeter Taxiway

แผนก่อสร้างรันเวย์ 3 รันเวย์ 4 สนามบินสุวรรณภูมิ

 

ส่วนของรันเวย์ 3 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มกิจการร่วมค้าทีเอ็น ประกอบด้วย บริษัท ถนอมวงศ์บริการ จำกัด และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) จะรองรับ 94 เที่ยวบิน (มีความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินสูงสุดของทางวิ่ง 136 เที่ยวบินต่อชั่วโมง)

โดยรันเวย์ 3 จะอยู่ด้านทิศตะวันตกขนานกับรันเวย์ 1 ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะใช้รันเวย์ 3 สำหรับบินร่อนลงเป็นหลัก ส่วนรันเวย์เส้นปัจจุบันจะใช้สำหรับบินขึ้น ส่วนทางขับขนาน(Parallel Taxiway) จะอยู่ขนานกับรันเวย์ 3 จะมีทางขับออกด่วนเชื่อมต่อถึงกัน

นอกจากนี้จะมีงานก่อสร้างทางขับออกด่วน(Rapid Exit Taxiway) และทางขับเชื่อม มี 7 เส้น เพื่อให้เครื่องบินที่ร่อนลงบนรันเวย์ 3 ไม่ต้องเสียเวลาอยู่บนรันเวย์นาน และเคลื่อนตัวออกจากรันเวย์เข้าสู่ทางขนานได้รวดเร็ว ทำให้รองรับจำนวนเที่ยวบินได้มากขึ้น 

งานก่อสร้าง Perimeter Taxiway ต่อจากทางขับขนานไปทางทิศใต้ โดยเชื่อมระหว่าง Taxiway F และ Taxiway D เพื่อใช้เป็นทางขับให้เครื่องบินสามารถขับเคลื่อนไปยังลานจอดได้สะดวก โดยไม่ต้องเคลื่อนตัดผ่านรันเวย์ 1 และ งานก่อสร้าง Taxiway D Extension เป็นการต่อขยายทางขับเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกให้เครื่องบินขับเคลื่อนออกจากรันเวย์ไปยังลานจอดได้โดยตรง และงานผิวทางของรันเวย์ 3 และทางขับต่างๆ

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแผนก่อสร้างรันเวย์ 4 สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีความยาวทาง 4,000 เมตร พร้อมทางขับคู่ขนาน ระยะเวลาในการลงทุน ปี 68-73 (ตามแผนแม่บท ปี2562) มูลค่าการลงทุน 13,000 ล้านบาท (รวม VAT) ยังไม่รวมชดเชยผลกระทบทางเสียง เพื่อขยายศักยภาพการรองรับได้ 120 เที่ยวบิน/ชั่วโมง โดยอย่างเร็วที่สุดจะเริ่มดำเนินการลงทุนได้ภายในปี 2568

กีรติ กิจมานะวัฒน์

  • สร้างรันเวย์ 4 ต้องจ่ายชดเชยเสียง 2,499 อาคาร

สำหรับแผนก่อสร้างรันเวย์ 4 ทอท.ได้ประมาณการงบประมาณชดเชยผลกระทบด้านเสียง ไว้ราว 4,156,911,000 ล้านบาท (รวมสำรองราคา 10% ) ไม่รวมงบจ้างที่ปรึกษาประเมินราคาและจ่ายเงินชดเชย โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2,499 อาคารที่นับภาพถ่ายทางอากาศ 

แบ่งเป็นอาคารที่อยู่ในพื้นที่ระดับเส้นเสียง NEF>40 จำนวน 528 อาคาร ค่าเฉลี่ย 6 ล้านบาท/อาคาร ใช้งบประมาณ 3,168 ล้านบาท และระดับเส้นเสียง NEF 30-40 จำนวน 1,971 อาคาร ค่าเฉลี่ย 3.1 แสนบาทต่ออาคาร งบประมาณ 611 ล้านบาท รวมแล้วรันเวย์ 4 เบื้องต้นน่าจะใช้งบก่อสร้างรวมชดเชยผลกระทบทางเสียงราว 1.7 หมื่นล้านบาท

  • รันเวย์ 3 เปิดใช้งานก.ค.2567

ขณะที่ความคืบหน้าในการก่อสร้างรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ปัจจุบันงานแล้วเสร็จกว่า 80% แล้ว โดยทอท.ใช้งบลงทุน 13,600 ล้านบาท (รวม VAT) ยังไม่รวมชดเชยผลกระทบทางเสียง) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฏาคม 2567 ซึ่งจะช่วยขยายศักยภาพการรองรับ 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง

โดยรันเวย์ 3 จะช่วยรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่มีแนวโน้มขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และรองรับปริมาณจราจร กรณีปิดซ่อมรันเวย์ 1 และรันเวย์ 2 ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันด้วย นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย

ในส่วนของมาตรการชดเชยผลกระทบด้านเสียง จะใช้หลักเกณฑ์ว่าทอท.จะเจรจาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในกรณี NEF > 40 และการให้เงินชดเชยไปปรับปรุงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง กรณี NEF 30-40 โดยจะจากเดิมจะจ่ายชดเชยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2549 ก่อนเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ในปี 2564

ทอท.ได้เสนอครม.ปรับหลักเกณฑ์ชดเชยให้เฉพาะผู้อยู่อาศัยก่อนจนถึงวันที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือนก.ย.ปี 2563

อีกทั้งครม.ยังได้อนุมัติการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ในส่วนของงบประมาณสำหรับดำเนินการชดเชยผลกระทบด้านเสียง เพิ่มขึ้น 6,254.941 ล้านบาท ทำให้วงเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 12,564.101 ล้านบาท ส่งผลให้โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 มีกรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 21,795.941 ล้านบาท เพิ่มเป็น 28,050.882 ล้านบาท

  • ชาวบ้านจี้ทอท.เร่งจ่ายชดเชยรันเวย์ 1,2 ให้จบ

อย่างไรก็ตามล่าสุดทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างรันเวย์ 3 และรันเวย์ 4 เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อจัดทำสรุปเสนอครม.พิจารณาต่อไป โดยส่วนใหญ่เข้าใจถึงความจำเป็นที่ในการก่อสร้างรันเวย์ 3 และ 4

แต่ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ต้องการให้ทอท.ดำเนินการชดเชยผลกระทบด้านเสียงในส่วนของรันเวย์ที่ 1 และรันเวย์ 2 ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งวันนี้ยังจ่ายชดเชยไม่แล้วเสร็จ บางหลังได้ แต่บางหลังที่อยู่ติดกันไม่ได้ โดยอยากให้เคลียร์ให้จบก่อน การอนุญาตรันเวย์ 3 และ 4 ไม่เช่นนั้นจะเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

รวมทั้งเรียกร้องขอให้ทอท.ชดเชยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ช่องว่างหูกระต่าย (ช่องว่างระหว่างรันเวย์) ซึ่งไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ในแนวเขตเส้นเสียงที่ได้รับการชดเชย ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงเช่นกัน

  • จี้ตั้งกองทุนสวล.เก็บเงินสายการบิน ชดเชยชุมชน

อีกทั้งขอให้จัดเร่งจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมท่าอากาศยาน สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเก็บเงินค่าธรรมเนียม Noise Charge จากสายการบินมาไว้ในกองทุนนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเสียงที่เกิดขึ้น ซึ่งขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องหารือเร่งรัดผลักดันการจัดตั้งกองทุนฯให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะมีการเรียกร้องมาอย่างยาวนาน เป็นต้น