เปิดแผนยกเครื่อง“เชียงใหม่”สู่ ฟิล์มโลเคชั่น Health & Wellness Hub

13 ต.ค. 2566 | 16:37 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 20:43 น.
1.3 k

เปิดแผนยกเครื่อง “เชียงใหม่” สู่ ฟิล์มโลเคชั่น Health & Wellness Hub ใช้ Soft Power สร้างแรงดึงดูดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ตั้งเป้าเพิ่ม GPP เป็น 3.5 แสนล้านบาทในปี 2570 ทอท.ทุ่ม 7 หมื่นล้านบาท ขยายสนามบินเชียงใหม่ ผุดสนามบินแห่งใหม่ “สนามบินล้านนา”

ก่อนโควิด-19 “เชียงใหม่” มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 11.16 ล้านคน สร้างรายได้ 110,760 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของจังหวัด ก็มีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เติบโต สูงเป็นอันดับ 15 ของประเทศ เชียงใหม่ จึงเป็นหนึ่งในจังหวัดที่นายก “เศรษฐา ทวีสิน” เลือกลงพื้นที่ เพื่อบูสต์เศรษฐกิจ และขับเคลื่อนการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับภูเก็ต

ความแตกต่างระหว่างเชียงใหม่และภูเก็ต คือ สัดส่วน GPP ของจังหวัดกว่า 68.6% อยู่ในภาคบริการและการท่องเที่ยว ภาคเกษตร 18.9% การลงทุนอุตสาหกรรม 12.5% ต่างจากภูเก็ตที่มีจะมีรายได้จากภาคบริการและการท่องเที่ยวสูงถึง 97%

นี่เองจึงทำให้ทิศทางการพัฒนาของเชียงใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเชียงใหม่ ได้หารือกับนายกและเตรียมจะผลักดันเศรษฐกิจของเชียงใหม่จากนี้ นอกจากจะเน้นเรื่องของการท่องเที่ยวแล้ว ยังโฟกัสด้านภาคเกษตรด้วย

  • เชียงใหม่ตั้งเป้าเพิ่ม GPP 3.5 แสนล้านปี 2570

ปัจจุบันในปีงบประมาณ 2566 คาดการณ์ว่า GPP ของเชียงใหม่ อยู่ที่ 2.9 แสนล้านบาท จังหวัดมีเป้าหมายเพิ่ม GPP เป็น 3.5 แสนล้านบาทในปี 2570 โดยวางเป้าเพิ่ม GPP อีก 6 หมื่นล้านบาท และเพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวเพิ่มขึ้น

โดยในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวคนไทย จาก 3.9 พันบาทต่อคนต่อทริป เพิ่มเป็น 7 พันบาทต่อคนต่อทริปในปีงบประมาณ 2570 และเพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ จาก 6 พันบาทต่อคนต่อทริปในปีงบประมาณ 2566 เป็น 1 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป

เปิดแผนยกเครื่อง“เชียงใหม่”สู่ ฟิล์มโลเคชั่น Health & Wellness Hub การจะขับเคลื่อนเป้าหมาย ดังกล่าว ทางจังหวัดเชียงใหม่ จะเน้นใน 5 จุดโฟกัสหลักในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเชียงใหม่ 2. การใช้ Soft Power สร้างแรงดึงดูดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว 3. เวลเนส 4. การแก้ไขและป้องกัน PM 2.5 และ 5. ด้านเกษตร

  • ทอท.ทุ่ม 7 หมื่นล้าน ขยายสนามบินเชียงใหม่ ผุด “สนามบินล้านนา”

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” จากการหารือจะพบว่าการพัฒนาและขยายศักยภาพของสนามบิน มีความชัดเจนมากที่สุด โดยศักยภาพของสนามบิน เชียงใหม่ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารทั้งไทยและต่างชาติได้เฉลี่ย 8 ล้านคนต่อปี มากสุด 11.34 ล้านคนต่อปีในปี 2562 หลังโควิดคลี่คลายผู้โดยสารเริ่มฟื้นตัว คาดว่าในปี 2570 จะมีผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเพิ่มเป็น 11.71 ล้านคนต่อปี

บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT จึงเริ่มจะพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยจะขยายและปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานเพิ่มจาก 12 หลุมจอดเป็น 31 หลุมจอด สร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเชียงใหม่หลังใหม่ รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารเดิมรองรับผู้โดยสารในประเทศ จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคน/ปี รองรับเที่ยวบินจาก 15 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ใช้งบประมาณลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ทอท.ยังมีการ เตรียมการวางแผนในส่วนการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 ที่จะใช้ชื่อว่า สนามบินล้านนา ที่ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน พื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่ รองรับนักท่องเที่ยวราว 16.5 ล้านคนต่อปี ลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ที่จะเป็นรีจินัล ฮับ ใช้เวลาดำเนินการ 7 ปี

ขณะที่แผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองเชียงใหม่ หรือรถไฟฟ้าเชียงใหม่ (แทรม) สายสีแดงช่วงร.พ.นครพิงค์-สมานสามัคคี 16 สถานีระยะทาง 15.8 กม. ใช้งบประมาณ 2.87 หมื่นล้านบาท ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด

  • ชู 5 Soft Power กระตุ้นท่องเที่ยวเชียงใหม่

สำหรับ “การใช้ Soft Power” สร้างแรงดึงดูดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่เชียงใหม่ จะเน้นใน 5 เรื่อง และนำเสนอเพื่อขับเคลื่อนผ่านคณะทำงาน Soft Power ระดับประเทศ ได้แก่

1. เมืองเทศกาลโลก (World Festival and City) โดยโปรโมทให้เทศกาลสงกรานต์, ลอยกระทง และการสร้างจุดขายด้วย 12 เดือน 12 เทศกาล ภายใต้ธีม 12 เดือนม่วนใจ๋ไปแอ่วเจียงใหม่ตวยกั๊นเจ้า 

2. Northern Food Local Gastronomy เพิ่มและผลักดันให้เกิดมาตรฐานมิชลิน 27 ร้าน มาตรฐาน Thai Selected ดึงเชฟระดับประเทศและระดับโลกมาโชว์ฝีมือการทำอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นในจ.เชียงใหม่ มาคัดสรรปรุงแต่งด้วยกรรมวิธีและเทคนิคพิเศษเฉพาะตัว

3. Gift and Fashion & Craft ยกมาตรฐานสินค้าชุมชม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ใช้จ่ายมากขึ้น

4. ส่งเสริมเชียงใหม่ให้เป็น “ film location” (Film & Movie) โปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวสู่ตลาดต่างประเทศถ่ายหนังในจุดไฮไลท์สำคัญ เช่น Lost in Thailand, กลิ่นกาสะลอง

5. เชียงใหม่-สายศรัทธา มูเตลู โปรโมทสถานที่มูเตลูที่โด่งดัง ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ วัดป่าแดด วัดพระธาตุดอยคำ ม่อนกุเวร

  • ผลักดันเชียงใหม่ Health & Wellness Hub

รวมไปถึงผลักดันเชียงใหม่เป็น “Health & Wellness Hub” โดยการสร้างให้เกิด Medicopolis Platform การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ การนำหมอที่เป็น influencer มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ การเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

ขณะที่การ “แก้ฝุ่น PM 2.5” จะผลักดันพรบ.อากาศสะอาดให้มีผลบังคับใช้ การขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีการจัดตั้งกองทุนดูแลป่าชุมชน การจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องปันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเป็น Command Centre มีผู้ว่าราชการเป็นผู้บัญชาการและบูรณาการ

การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การนำร่องแม่แจ่มโมเดล เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิของชาวบ้านในการจัดการป่าไม้และที่ดิน การจัดทำระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล

สุดท้ายเป็น “การส่งเสริมด้านเกษตร” ได้แก่ 1. การบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรไม่ให้เกิดภาวะราคาตกตํ่า โดยมีมาตรการลงนามสัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า การเชื่อมโยงผลผลิตสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำคำขอส้ม/ลิ้นจี่ และการเชื่อมโยงผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก โดยเฉพาะผลไม้ (มะม่วง ลำใย ลิ้นจี่) และ 2. การยกระดับสินค้าที่อยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ส้มและลิ้นจี่

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น