“เศรษฐา” ยกคณะเยือนน่าน ดันเป็นจังหวัดต้นแบบแก้ “หนี้นอกระบบ”

23 ธ.ค. 2566 | 15:38 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 15:45 น.

นายกฯ “เศรษฐา” ยกคณะลงพื้นที่จังหวัดน่าน ถกหน่วยงานในพื้นที่ก่อนประกาศดันเป็นจังหวัดต้นแบบแก้ “หนี้นอกระบบ” แห่งแรก สั่งมหาดไทยกำชับหน่วยงานในพื้นที่ดูแลเป็นพิเศษ

วันนี้ (23 ธันวาคม 2566) ที่จังหวัดน่าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งคณะได้ลงพื้นที่ติดตามประเด็นการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดน่าน พร้อมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และร่วมรับฟังการเจรจาแก้ปัญหาหนี้ระหว่างประชาชน (ลูกหนี้) กับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในพื้นที่ 

โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมด้วย

 

นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามประเด็นการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดน่าน

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายว่า วันนี้มาลงพื้นที่จังหวัดน่านเป็นจังหวัดแรก ตั้งเป้าหมายให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว การดำเนินการแก้ไขหนี้ที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย แต่เป็นที่ทราบดีว่าปัญหานี้อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน และได้แก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของพื้นที่ที่สามารถทำได้ 

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่มีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่รับฟังพร้อมแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ไข จะกลายเป็นสารตั้งต้นเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคม ปัญหาความไม่ปลอดภัยของประชาชน 

พร้อมระบุว่า ถึงแม้ว่าจังหวัดน่านจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่มีหน่วยงานครบทุกหน่วยงาน หากสามารถร่วมกันทำงาน พัฒนาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ เรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหาทุกข์ใจของประชาชน เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ความผิด ซึ่งปัญหาไม่ได้เกิดจากการพนันหรือการซื้อยาเสพติด แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทุกท่านรู้กันดี รวมถึงการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม

“วันนี้รัฐบาลจะมาเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาให้ความเป็นธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง ถ้าทำได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีสิ่งดี ๆ ตามมาในชีวิตของประชาชน ขอให้ทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้เป็นผู้รับใช้ของประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดต้องทำให้สำเร็จ ขอให้จังหวัดน่านเป็นจังหวัดต้นแบบในการแก้ไขปัญหา จึงขอให้มหาดไทยกำชับหน่วยงานในพื้นที่ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ”นายกฯ กล่าว

 

นายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามประเด็นการเจรจาแก้หนี้นอกระบบในพื้นที่จังหวัดน่าน

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมา พบว่า ยังมีปัญหาเรื่องการดำเนินการ จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนจำนวนมาก แต่พอถึงเวลาเจรจาไกล่เกลี่ย กลับมีลูกหนี้เดินทางมาเข้าสู่ระบบจำนวนไม่มาก นายกฯ จึงขอให้พิจารณากระบวนการทำงาน ปรับเปลี่ยนจากที่ลูกหนี้เดินทางมาจังหวัด ให้จัดตลาดนัดแก้ไขหนี้ในตำบล ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เดินทางมาสะดวกขึ้น 

พร้อมมอบหมายให้กรมการปกครองสั่งการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองลงพื้นที่เก็บข้อมูล อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากขึ้น พร้อมกับฝากให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตของลูกหนี้ และมอบหมายให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน คำนวณอัตราหนี้และจำนวนเงินดอกเบี้ยที่ส่งไปแล้ว หากเกินจำนวนเงินที่กู้ ขอให้เจรจายุติหนี้ 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย พร้อมรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศนโยบายชัดเจนให้ข้าราชการในสังกัดลงพื้นที่พบชาวบ้านสอบถามข้อมูล ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมกำชับฝ่ายปกครองให้ขับเคลื่อนการทำงานแก้ไขปัญหาหนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจังหวัดน่าน ตามแนวทางที่กรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทยกำหนด มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธันวาคม) มีจำนวนลูกหนี้ 563 ราย จำนวนเจ้าหนี้ 518 ราย รวมยอดหนี้มูลค่ารวม 33,041,242 บาท 

ส่วนสาเหตุการเป็นหนี้ 5 อันดับแรก คือ

  • ด้านอุปโภค 602 ราย 
  • ด้านการลงทุน 496 ราย 
  • ต่อเติมที่อยู่อาศัย 109 ราย 
  • ค่าเทอม 288 ราย 
  • การพนัน 17 ราย

สำหรับจังหวัดน่าน กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดไว้ ดังนี้ 

  1. กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อย 80% ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า 50%
  2. เจ้าพนักงานตำรวจ สามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมด 70% ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการหากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จก่อน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน 
  3. การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งจะต้องได้รับการให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 70% ของผู้ลงทะเบียน 
  4. ทุกอำเภอต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยให้สำเร็จอย่างน้อย 1 กรณีตัวอย่าง (Best Practice)
  5. จังหวัดน่านกำหนดให้แก้ไขปัญหาในภาพรวม ได้อย่างน้อย 10% ของผู้ลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566

สำหรับผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ ที่ผ่านมาของจังหวัดน่าน จากจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 563 ราย ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 52 ราย คิดเป็น 32.70% ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการไกล่เกลี่ย 48 ราย และให้รัฐจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 28 ราย คิดเป็น 17.61 % รวมผลการดำเนินการแก้ไขให้ความช่วยเหลือแล้วจำนวน  80 ราย คิดเป็น 50.31%

 

“เศรษฐา” ยกคณะเยือนน่าน ดันเป็นจังหวัดต้นแบบแก้ “หนี้นอกระบบ”