รัฐบาลเคาะมาตรการ "แก้หนี้นอกระบบ” งัด KPI ไกล่เกลี่ยจบ 80%

18 ธ.ค. 2566 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 15:51 น.

บอร์ดกำกับการ "แก้หนี้นอกระบบ” ประชุมนัดแรก เคาะมาตรการแก้ไขปัญหา 3 ด้าน ทั้ง ไกล่เกลี่ย บังคับใช้กฎหมาย และให้ความช่วยเหลือทางการเงิน กำหนด KPI กำกับดูแล พร้อมตั้งปลัดมหาดไทย นั่งอนุขับเคลื่อน

วันนี้ (18 ธันวาคม 2566) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยที่ประชุมเห็นชอบมาตรการ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ 3 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยมีกรมการปครองเป็นเจ้าภาพหลัก และมีสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมสนับสนุน โดยนับแต่เริ่มปิดลงทะเบียนจนถึง 18 ธ.ค. 66 (เวลา 11.30 น.) ปรากฏว่ามีลูกหนี้มาลงทะเบียนแล้ว 99,484ราย คิดเป็นมูลหนี้ 5,926 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างการลงทะเบียนดังกล่าวก็มีการเชิญเจ้าหนี้ลูกหนี้มาทำการไกล่เกลี่ยโดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง บูรณาการร่วมกับตำรวจและพนักงานอัยการ โดยทางเจ้าหนี้-ลูกหนี้สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ จะมีการทำบันทึกประนีประนอมไว้เป็นหลักฐาน ล่าสุดดำเนินการไปแล้ว 20 ราย

 

รัฐบาลเคาะมาตรการ \"แก้หนี้นอกระบบ” งัด KPI ไกล่เกลี่ยจบ 80%

 

2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยบูรณาการร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยเหลือ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้กำลังประทุษร้ายลูกหนี้ไปแล้วบางส่วน รวมทั้งเรียกเจ้าหนี้มาทำความเข้าใจนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย

3. ด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มีกระทรวงการคังเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐ ในการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อย และอาจมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ตามสาเหตุแห่งการเป็นหนี้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงกระทรวงมหาดไทย ให้การสนับสนุนด้านการหาอาชีพเสริม สนับสนุนปัจจัยการผลิต 

 

รัฐบาลเคาะมาตรการ \"แก้หนี้นอกระบบ” งัด KPI ไกล่เกลี่ยจบ 80%

 

คลอดตัวชี้วัดการทำงาน

ที่ประชุมได้เห็นชอบตัวชี้วัดการดำเนินการทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย 

ตัวชี้วัดด้านการไกล่เกลี่ย โดยกรมการปกครอง กำหนดการเจรจาไกล่เกลี่ยได้อย่างน้อย 80% ของลูกหนี้ในระบบและเจ้าหนี้ตามฐานข้อมูล โดยสามารถตกลงกันได้ไม่น้อยกว่า 50% 

ตัวชี้วัดด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถดำเนินคดีได้ทั้งหมด 70% ของเรื่องรับดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการหากเป็นสำนวนไม่ยุ่งยากดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน กรณีมีความซับซ้อนไม่เกิน 3 เดือน  

ตัวชี้วัดด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งจะต้องได้รับการให้สินเชื่อโดยธนาคารออมสินและธ.ก.ส. มีเป้าหมายผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ 70% ของผู้ลงทะเบียน

ตั้งปลัดมท. อนุกรรมการขับเคลื่อน

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานอนุกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ 

โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการช่วยเหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เชิญหน้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ความเห็น หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

“ครั้งนี้เป็นการประชุมนัดแรกหลังนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ  ต่อไปนี้จะต้องร่วมกันศึกษา วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบให้ลูกหนี้ ซึ่งต้องแบกรับภาระไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินโดยถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา การถูกข่มขู่โดยใช้ความรุนแรงต่อไป” 

 

รัฐบาลเคาะมาตรการ \"แก้หนี้นอกระบบ” งัด KPI ไกล่เกลี่ยจบ 80%

 

ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

สำหรับขั้นตอนดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 

ขั้นตอนแรก การลงทะเบียน ดำเนินการระหว่าง 1ธ.ค.66-29ก.พ.67 มีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก และมีหน่วยงานอื่นเสริมคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยทั้งหมดเชื่อมโยงข้อมูลกัน โดยประชาชนได้รับหมายเลขอ้างอิง (Reference Number) เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าทางเว็บไซต์ภาครัฐได้ตลอด 

ขั้นตอนที่ 2 ดำเนินการไกล่เกลี่ยและติดตามผล 

ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดระยะเวลาดำเนินการ เป้าหมาย และตัวชี้วัดที่ต้องชัดเจน