“เศรษฐา” ตั้ง KPI วัดฝีมือ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ตำรวจ แก้หนี้นอกระบบ

08 ธ.ค. 2566 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2566 | 11:59 น.
853

นายกฯ เศรษฐา มอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตำรวจ ตั้ง KPI วัดการทำงาน กำหนดเป้าหมายหนี้นอกระบบจะต้องได้รับการจัดการโดยเด็ดขาด

วันนี้ (8 ธันวาคม 2566) ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจ แต่มาขอแรงช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนหลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม เพื่อช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทย

“วันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงและผู้นำหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนทั่วประเทศ มารวมกัน จึงอยากให้ทุกท่านได้รับรู้ และทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นวาระสำคัญของชาติจริง ๆ นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของผม หรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน” นายกฯ ระบุ

 

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

 

ทั้งนี้นายกฯ ยังขอประกาศเป้าหมายหนี้นอกระบบจะต้องได้รับการจัดการโดยเด็ดขาด โดยทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ที่เหมาะสม และกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยขอหลักการกว้างๆว่าจะต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่ “ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป” จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำด้วย

นายเศรษฐา กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เปิดลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมทั้งการลงทะเบียนผ่านสายด่วน 1567 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ล่าสุดมีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมมูลหนี้กว่า 3,500 ล้านบาท

ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 และประชาชนก็สามารถเข้าไปที่โรงพักใกล้บ้านเพื่อแจ้งเหตุได้ ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้ 

เมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนจะมีการประสานเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทุกช่องทางเข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลไม่ให้ตกหล่น และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ประชาชนที่ลงทะเบียนจะได้รับเลข Reference Number ในทุก ๆ กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้า หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา

 

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

 

ทั้งนี้เมื่อเรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดประเภทเรื่องที่ร้องเรียน ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการต่อ ถ้าพบว่ามีกรณีที่องค์ประกอบความผิดครบ เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการสามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที 

“ถ้าองค์ประกอบความผิดครบ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็พร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ก็ขอให้เชิญเข้ามาไกล่เกลี่ยหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน ตามแบบฟอร์มที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และงวดผ่อนชำระหนี้ ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้”

ขณะเดียวกันการดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่รับเรื่อง รัฐบาลจะมีการติดตามผล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำการติดต่อติดตามผล เพื่อดูว่าทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ สามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้หรือไม่แล้วหากยังพบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้ จะขอเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้ง

หรือถ้าภายหลัง พบว่ายังมีการข่มขู่ หรือ เจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ย จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

นายกรัฐมนตรี มอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

 

นายกฯ ยอมรับว่า กระบวนการทั้งหมด ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ แต่ขอย้ำว่านี่เป็นกระบวนการที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ร่วมกันสมัครใจเข้ามาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในชั้นการไกล่เกลี่ย ให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามโครงการที่ได้จัดเตรียมไว้ 

“ขั้นตอนทั้งหมดมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของประชาชนที่ตกเป็นทาสหนี้นอกระบบ ขอให้ศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงานซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำงานให้ถ่องแท้ รวมทั้งขอให้ทั้งเจ้าหน้าที่มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกันและกัน ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการได้จากทุกฝ่าย” นายกฯ กล่าว