ธปท.เตือนรัฐบาลประเมินความคุ้มค่า ออกมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ

23 ธ.ค. 2566 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 13:18 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แนะรัฐบาล หลังออกมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ ควรประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของโครงการ ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับเป็นหลัก

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอไปก่อนหน้านี้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณา พร้อมทั้งเสนอความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดำเนินการหลายเรื่อง 

โดยเอกสารของ ธปท. แจ้งว่า ธปท. ไม่ขัดข้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาเข้าครม.ในครั้งนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างระบบการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ เนื่องจากจะช่วยบรรเทา ปัญหาภาระหนี้สินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ และสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ อย่างต่อเนื่อง 

แต่ ธปท. มีข้อเสนอแนะต่อมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิผลและเป็นผลดีต่อลูกหนี้ให้มากที่สุด ดังนี้

 

ธปท.เตือนรัฐบาลประเมินความคุ้มค่า ออกมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ

 

1. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามโครงการสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

ธปท. เห็นว่า การติดตามทวงถามหนี้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ควรดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดครบถ้วนแล้ว และควรสื่อสารให้ชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นกรณีจำเป็นเฉพาะจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหา moral hazard ของลูกหนี้ในโครงการสนับสนุนกรณีปกติอื่น ๆ ของภาครัฐ

2. มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ

ธปท. เสนอว่า ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ควรพิจารณากำหนดเงื่อนไข ให้เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถในการหารายได้และส่งเสริมวินัยทางการเงินของลูกหนี้ด้วย

ขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ต้องประชาสัมพันธ์และสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกหนี้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม และควรสนับสนุนให้ลูกหนี้ที่มีความสามารถชำระเงินต้นในช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของลูกหนี้

พร้อมกันนี้ ภาครัฐควรมีกรอบระยะเวลาและจัดสรรงบประมาณรายจ่ายชดเชยความเสียหายที่ชัดเจน เนื่องจาก SFIs มีพันธกิจที่ต้องดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนลูกหนี้อยู่หลายโครงการ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสภาพคล่องและฐานะการดำเนินงานของ SFIs
 

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเห็นว่า การออกแบบมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าว ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้ จะได้รับเป็นหลัก ทั้งการช่วยลดภาระหนี้เดิมและดูแลไม่ให้เกิดหนี้เพิ่มเติมจนลูกหนี้ไม่สามารถบริหารจัดการได้ รวมถึงควรมีการประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของโครงการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ 

ขณะที่ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมบ่มเพาะให้เกิดวินัยในการบริหารเงินและหนี้อย่างรับผิดชอบ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนประสบความสำเร็จและมีผลยั่งยืนต่อไป

 

ธปท.เตือนรัฐบาลประเมินความคุ้มค่า ออกมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ

 

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ครม. ได้มีมติอนุมัติแนวทางการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณ 4,900 ล้านบาท โดยจะใช้วงเงินตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อดำเนินการ 3 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ SMEs ของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็นหนี้เสีย หรือ NPLs ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566

ทั้งนี้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนลูกหนี้ในอัตรา 1% ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ) ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 5 เดือน (8 เดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ประมาณการวงเงินชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 400 ล้านบาท

2. มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ 

เป็นการช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท (แห่งละ 7,500 ล้านบาท) วงเงินสินเชื่อต่อราย ไม่เกินรายละ 20,000 บาท 

โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน (Flat Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก NPLs 100% สำหรับ NPLs ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมวงเงินชดเชยไม่เกิน 4,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 2,250 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 2,250 ล้านบาท

3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19

เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ NPLs ของโครงการฯ โดยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ดำเนินการทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยยังไม่ดำเนินการตัดหนี้สูญออกจากบัญชี และนำงบประมาณ ที่ได้รับชดเชยความเสียหายตามโครงการสินเชื่อฯ มาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้เพื่อไม่ให้เป็น NPLs หรือหมดสิ้นภาระหนี้ที่เกิดจากโครงการสินเชื่อฯ ดังกล่าวต่อไป