ความสัมพันธ์การค้าไทย-เดนมาร์ก โอกาสความร่วมมือใหม่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG

22 ธ.ค. 2566 | 00:10 น.

เดนมาร์กมีประชากรราว 6 ล้านคน มีกรุงโคเปนเฮเกนเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จากรายงาน Doing Business ของ World Bank ปี 2563 เดนมาร์กเป็นประเทศที่เหมาะแก่การลงทุนทำธุรกิจอันดับที่ 4 ของโลก และอันดับที่ 1 ของยุโรป และยังเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุดในโลก

 

เศรษฐกิจเดนมาร์ก ในครึ่งแรกของปี 2566 เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป  โดย GDP เพิ่มขึ้น 0.6% (เติบโตติดต่อกัน 4 ไตรมาส) จากแรงหนุนของภาคการผลิตและสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการผลิตในอุตสาหกรรมยาที่เพิ่มขึ้น 15%  ในไตรมาส 1 และผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Novo Nordisk , Mærsk และบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากทะเลเหนือ

เดนมาร์ก เป็นประเทศอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่ม (industrialized value-added country) พึ่งพาวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่จากต่างประเทศ  โดยปี 2564 นำเข้าสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักร (ไม่รวมอุปกรณ์ขนส่ง) 24.2% ผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด (Miscellaneous  Manufactured Articles) 17.8% สัตว์มีชีวิต อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 13.8% สินค้าและสิ่งของจากการผลิต (Manufactured goods and articles) 13.6%  จึงนับเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปมายังเดนมาร์ก นอกจากนี้ เดนมาร์กยังเป็นจุดกระจายสินค้าที่ดีสำหรับตลาดสแกนดิเนเวีย ยุโรปเหนือ และบอลติก

โคเปนเฮเกนเป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเดนมาร์ก

การค้า-การลงทุนระหว่างไทยกับเดนมาร์ก

ในปี 2565 การค้าไทย-เดนมาร์ก มีมูลค่า 804.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดของการค้าระหว่างเดนมาร์กกับกลุ่มประเทศอาเซียน สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน  เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว ของใช้ในบ้าน โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ส่วนสินค้าหลักๆที่ไทยนำเข้าจากเดนมาร์ก ได้แก่ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (หนังเฟอร์ดิบ หัว หาง อุ้งเท้า และชิ้นหรือส่วนตัดอื่น ๆ สําหรับใช้ในกิจการหนังเฟอร์) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

ด้านการลงทุน บริษัทชั้นนำของเดนมาร์กหลายแห่งเลือกไทยเป็นฐานการผลิต จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งและความได้เปรียบทางการแข่งขัน  โดยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่มาหลายทศวรรษ เช่น Pandora,  Royal Copenhagen, George Jensen, Ecco, Danfoss, Grundfos, Maersk, Kvik Furniture และ M2 Animation

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเดนมาร์ก 2 บริษัทที่ลงทุนใน EEC ได้แก่ Mountain Top (Thailand) ผู้ผลิต aluminium roll cover สำหรับรถกระบะ และ LINAK APAC (ลิ นัก เอแพค) ผู้ผลิต electric linear actuator solutions สำหรับหลากหลายอุตสาหกรรม

บริษัทเดนมาร์กยังสนใจพัฒนาโครงการพลังงาน โดยมุ่งเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2060

จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจของบริษัทเดนมาร์กมีความสำคัญโดดเด่นในไทย และช่วยสร้างงานให้คนไทยมากกว่า 5 หมื่นตำแหน่ง  นอกจากนี้ หอการค้าไทย – เดนมาร์ก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 ในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 บริษัทและถือเป็นหอการค้าเดนมาร์กที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน  ในทางกลับกัน บริษัทชั้นนำของไทยได้ไปลงทุนในเดนมาร์กเช่นกัน อาทิ เครือเซ็นทรัล การบินไทย CPF ร้านอาหารไทย Blue Elephant และบริษัทอินโดรามา (Indorama)  ซึ่งประกอบการทางด้านพลาสติก เป็นต้น

ความสัมพันธ์การค้าไทย-เดนมาร์ก โอกาสความร่วมมือใหม่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG

โอกาสความร่วมมือในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นอกเหนือจากการค้าการลงทุนทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์กซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ภาคเอกชนไทยและเดนมาร์กยังกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนใหม่ในสาขาที่มีความสำคัญกับอนาคต เช่น พลังงานสีเขียว และการผลิตอาหารและการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาจากโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยผนวกกับความเชี่ยวชาญของเดนมาร์กในสาขาต่าง ๆ ดังนี้

  1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เดนมาร์กมีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตสมัยใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าผลผลิต
  2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) เดนมาร์กเห็นความจำเป็นและโอกาสทางธุรกิจของ green transition ทั้งในบริบทของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนา circular technology และการนำ circular solutions ไปใช้ในธุรกิจต่าง ๆ 
  3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green) เดนมาร์กเป็นผู้นำด้าน green technology/solutions เป็นอันดับ 1 ในดัชนี Environmental Performance Index (EPI) 2022 โดยรัฐบาลเดนมาร์กและทุกภาคส่วนของสังคมมีฉันทามติที่จะนำประเทศสู่ green transition โดยตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2045 ซึ่งได้รับการขานรับจากภาคธุรกิจสาขาต่าง ๆ ที่เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไทยเองสามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าและความเชี่ยวชาญของเดนมาร์กข้างต้นเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางความร่วมมือที่จะนำไปสู่ green strategic partnership ระหว่างไทยกับเดนมาร์กได้ต่อไปในอนาคต

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน