“คาซัคสถาน" ประตูสู่การค้า-การลงทุนในเอเชียกลาง และโอกาสสำหรับประเทศไทย

23 ต.ค. 2566 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2566 | 06:13 น.

"คาซัคสถาน" เป็นหนึ่งในสองประเทศ ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับการยกเว้นการทำวีซ่าเข้าประเทศไทยเป็นเวลา 5 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 แม้จะเป็นการยกเว้นชั่วคราว แต่ก็ทำให้ชื่อของ “คาซัคสถาน” ได้รับความสนใจจากคนไทยไม่ใช่น้อย

ความจริงแล้ว “คาซัคสถาน” เป็น ตลาดที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ในฐานะที่เป็น “ประตูสู่เอเชียกลาง” นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันได้อีกมาก และหากมองภาพรวมด้านเศรษฐกิจของคาซัคสถาน จะเห็นได้ว่าเป็นตลาดทางเลือกที่มีศักยภาพอย่างมาก เนื่องจากเหตุผล ดังนี้

1) บรรยากาศการค้า-การลงทุน (Trade and investment climate) โดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เน้นการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการลงทุนให้เป็นไปในทิศทางบวก มีการเพิ่มการโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน และลดบทบาทของการผูกขาด และผู้ผูกขาดส่วนแบ่งตลาดในระบบเศรษฐกิจ

2) เศรษฐกิจคาซัคสถานมีการเติบโตขึ้น โดยรัฐบาลคาซัคสถานได้แถลงเมื่อต้นปี 2566 ว่า เศรษฐกิจคาซัคสถานในปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565) เติบโต 3.1% โดยสาขาที่เติบโตมากที่สุด คือ ภาคการก่อสร้างที่ขยายตัว 9.4% และภาคการเกษตร (9%) ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2566 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจคาซัคสถานจะเติบโตที่อัตรา 3.5-4%

นครอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน

3) รัฐบาลคาซัคสถานมุ่งส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเห็นได้จากการจัดประชุมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพในด้านการค้าและการลงทุนของคาซัคสถานให้แก่ภาคธุรกิจและเอกชนนานาประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.2566 ได้มีการจัด Astana International Forum เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมการหารืออย่างสร้างสรรค์ในประเด็นสำคัญระหว่างประเทศ อาทิ (1) ประเด็นความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียกลาง (2) Global Supply Chain และ Food Security (3) Finance ที่มีความเชื่อมโยงกับความยั่งยืน เป็นต้น

4) การมีหน่วยงานที่ส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างคาซัคสถานและต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ อาทิ (1) Kazakh Invest (2) Chamber of International Commerce of Kazakhstan (3) KazakhExport (4) Astana International Financial Center (5) President’s Foreign Investors Council

โดยตัวอย่างความสำเร็จของเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างคาซัคสถานกับต่างประเทศสะท้อนได้จาก ผลการเยือนในภาคเอกชนของสิงคโปร์และเยอรมนี เมื่อเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน พ.ศ.2566 ตามลำดับ

คาซัคสถาน เป็นจุดยุทธศาสตร์ (strategic location) อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ระหว่างทวีปเอเชียที่มีตลาดใหญ่ เช่น จีน กับทวีปยุโรป

คาซัคสถานนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ (strategic location) อยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ระหว่างทวีปเอเชียที่มีตลาดใหญ่ เช่น จีน กับทวีปยุโรป โดยคาซัคสถานมีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน เพื่อการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทางบกและทะเลที่จะเชื่อมระหว่างจีนกับยุโรป รวมถึงการพัฒนาท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดย เส้นทาง Trans-Caspian International Transport (TITR) หรือ The Middle Corridor จากจีนผ่านคาซัคสถานไปยังริมทะเลแคสเปียนที่มีท่าเรือสำคัญของคาซัคสถาน ได้แก่ ท่าเรือ Asktau

เส้นทาง International North-South Transport Corridor (INSTC) จากอิหร่านมายังคาซัคสถานทางรถไฟ (ผ่านเติร์กเมนิสถาน) หรือทางเรือในทะเลแคสเปียน ซึ่งเอกชนไทยสามารถใช้ขนส่งสินค้าจากไทยมายังคาซัคสถานผ่านเส้นทางนี้ได้

นอกจากนี้ ยังมีการขนส่งเส้นทางอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียกลางที่อาจจะเป็นตัวเลือกในอนาคตสำหรับโอกาสการค้าของไทยในคาซัคสถานและภูมิภาคเอเชียกลางโดยรวม ได้แก่ ทางรถไฟ China-Kyrgyzstan-Uzbekistan (CKU railway)     

เส้นทางรถไฟ China-Kyrgyzstan-Uzbekistan (CKU railway) จากจีนสู่กลุ่มประเทศเอเชียกลาง   

โอกาสของไทยสู่คาซัคสถาน...ประตูสู่เอเชียกลาง

สินค้าไทยหลายประเภทมีศักยภาพและมีอุปสงค์ในตลาดคาซัคสถาน อาทิ

  1. สินค้าอาหาร ซึ่งปัจจุบันสินค้าดังกล่าวมีการวางขายอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในคาซัคสถานแล้ว
  2. สินค้าสำหรับเด็ก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดใหญ่สำหรับไทยได้ เนื่องจากครอบครับชาวคาซัคสถานมีลูกหลายคน
  3. สินค้าประเภทเครื่องเขียนและสินค้าตกแต่งบ้าน ที่น่าจะตีตลาดคาซัคสถานได้ เนื่องจากสินค้าประเภทดังกล่าวที่มีอยู่ในคาซัคสถานยังไม่มีความหลากหลาย
  4. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอะไหล่รถยนต์ โดยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2566 ได้มีคณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมออกบูทในงานแสดงสินค้า Astana Automechanika ณ กรุงอัสตานา

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-16 กันยายนที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ได้ดำเนินโครงการสำรวจทรัพยากรและแร่ธาตุที่สำคัญในคาซัคสถานและทาจิกิสถานสำหรับใช้ในการผลิตเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยได้รู้จักกับตลาดแร่ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและช่องทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญระหว่างภาคเอกชนของไทยกับคาซัคสถานและทาจิกิสถาน โดยเฉพาะสาขาที่สนับสนุนนโยบาย BCG ของไทยสำหรับการผลิตสินค้าเทคโนโลยีสะอาด อาทิ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar panels) กังหันลมผลิตไฟฟ้า (wind turbines) รถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles : EVs) และแบตเตอรี่ grid-scale

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา