“หม้อไฟหม่าล่า” ซอฟต์พาวเวอร์อาหารจีน กระแสฮิตบุกตลาดอาเซียน

08 ส.ค. 2566 | 00:10 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2566 | 06:07 น.

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ อาหารจีนอย่าง "หม้อไฟหม่าล่า" ที่มีรสชาติจัดจ้าน ได้กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "เมียนมา" ที่มีร้านหม้อไฟหม่าล่าผุดขึ้นราวดอกเห็ด

 

เยี่ยนเสียงซวี่ วัย 37 ปี ชาวเมียนมาเชื้อสายจีน เจ้าของ ร้านหม้อไฟหม่าล่า ในนครย่างกุ้ง เล่าว่า อาหารจีน รสชาติ หม่าล่า เริ่มปรากฏในเมียนมาเมื่อสิบปีก่อน และค่อยๆ แพร่หลายจนตอนนี้หารับประทานหม้อไฟหม่าล่าตามร้านอาหารหลายแห่งได้ เมนูเด็ดนี้ยังได้กลายเป็นเมนูสำหรับฉลองเทศกาลตรุษจีนในหมู่คนเชื้อสายจีนใน เมียนมา อีกด้วย

หม้อไฟหม่าล่าของเยี่ยนนั้น ยึดกลยุทธ์ "เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม" โดยเยี่ยนเปิดเผยว่า เมียนมามีอากาศร้อนอบอ้าว ชุดเครื่องปรุงหม้อไฟหม่าล่าของเขาจะไม่มันเกินไป เพราะชาวเมียนมามักรับประทานน้ำซุปทีหลังด้วย และใช้น้ำมันหอมใส เพราะชาวเมียนมาไม่ค่อยรับประทานเนื้อวัว

เยี่ยนรักษารสชาติต้นตำรับของหม้อไฟหม่าล่าด้วยการยังคง "ความเป็นจีน" ผ่านส่วนผสมที่สั่งซื้อจากเทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมอบรสชาติเผ็ดร้อนจัดจ้าน อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำในเมียนมาไม่ได้ โดยส่วนผสมนำเข้าจะถูกปรับให้มีรสชาติถูกปากคนท้องถิ่น

หนึ่งในร้านหม้อไฟหม่าล่าที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดในนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

ส่วนผสมที่สั่งซื้อจากเทศบาลนครฉงชิ่ง มอบรสชาติเผ็ดร้อนจัดจ้าน อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำในเมียนมาไม่ได้

นอกจากนั้น เยี่ยนยังทำธุรกิจร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น เพื่อวางจำหน่ายชุดเครื่องปรุงหม้อไฟหม่าล่าสำหรับรับประทานที่บ้าน ซึ่งติดฉลากทั้งภาษาเมียนมาและภาษาจีนเพื่อให้ชาวจีนโพ้นทะเลสามารถหยิบซื้อได้ด้วย โดยยอดจำหน่ายชุดเครื่องปรุงหม้อไฟหม่าล่านี้พุ่งสูงถึง 20,000-30,000 ห่อต่อเดือน

ชุดเครื่องปรุงหม้อไฟหม่าล่าสำหรับปรุงรับประทานที่บ้าน ติดฉลากทั้งภาษาเมียนมาและภาษาจีน

หลี่จิ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวจีนที่เคยไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่นครย่างกุ้ง เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า ย่างกุ้งมีร้านหม้อไฟหม่าล่าเยอะมาก และเมนูนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เขาได้พูดคุยกับเพื่อนชาวเมียนมาบ่อยครั้ง โดยหลี่มองว่า "ความเผ็ดชาเข้มข้น" สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ จึงทำให้คนไม่น้อยชื่นชอบหม้อไฟหม่าล่า

ขณะเดียวกัน "ไทย" ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่นิยมรับประทานหม้อไฟหม่าล่า โดยข้อมูลจากแพลตฟอร์มเหม่ยถวนและเตี่ยนผิงระบุว่า ยอดค้นหาคำว่า "หม่าล่า" และ "หม้อไฟ" ในไทยพุ่งทะยาน 700% เมื่อเทียบปีต่อปี ทั้งยังมีร้านปิ้งย่าง-หม้อไฟหม่าล่า ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

บรรยากาศนั่งสบายภายในร้าน

ทั้งนี้ หากมองในด้านปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ จะพบว่า แรงผลักดันจากการดำเนินแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) การสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ และการบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นั้น มีส่วนช่วยขยายความร่วมมือทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างจีนและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป

ขณะที่ปีนี้จีนจัดงานมหกรรมการค้าหลายรายการและเชื้อเชิญผู้คนจากกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วม เช่นการประชุมทางธุรกิจล้านช้าง-แม่โขง ครั้งที่ 5 ซึ่งมีตัวแทนอุตสาหกรรมต่างๆ จาก 6 ประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือด้านสินค้าเกษตรและการแปรรูปอาหาร

สุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ซึ่งเข้าร่วมการประชุมข้างต้น ระบุว่า การเร่งเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขง ได้เกื้อหนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ที่ส่งผลดีต่อการขยายตลาดและการค้าของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทั้งของจีนและของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย

 

ที่มาและเครดิตภาพ สำนักข่าวซินหัว