เบื้องลึก "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" 2567 บอร์ดค่าจ้าง งัดข้อการเมืองแทรกแซง

20 ธ.ค. 2566 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 12:10 น.
507

เปิดเบื้องลึก "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" 2567 หลัง บอร์ดค่าจ้าง หรือ คณะกรรมการไตรภาคี งัดข้อปิดทางไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง เช็ครายละเอียดแบบเจาะลึกกับการประชุมครั้งใหญ่ได้ที่นี่

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ปี 2567 ว่า ก่อนอื่นต้องขอปรบมือดัง ๆ ให้คณะกรรมการไตรภาคีโดยเฉพาะกรรมการฝ่ายลูกจ้างและ นายจ้างไม่ยอมงอให้กับภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงจนทำให้มีการถอนวาระออกจากการประชุม คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา 

โดยให้เหตุผลว่าเป็นอัตราที่ต่ำไป ทั้งที่เป็นวาระเพื่อทราบเพื่อให้คณะกรรมการค่าจ้างกลับมาทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจะมีผลใช้ปี 2567 ทั้งที่ได้มีมติเป็น เอกฉันท์ไปก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานมีการรับลูกโดยการจัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างรอบใหม่เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2566 มีการชงเรื่องให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาโดยจัดทำสูตรใหม่ซึ่งจะทำให้ อัตราค่าจ้างสูงขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว

สำหรับผลการประชุมไตรภาคีครั้งที่ 2 คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตามมติเดิม ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 โดยยังคงปรับค่าจ้างขั้นต่ำมี 17 อัตราครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท หรือเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 2.37% 

สำหรับจังหวัดที่ได้ค่าจ้างสูงสุด คือ "ภูเก็ต" อัตราใหม่ 370 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นวันละ 16 บาท คิดเป็น 4.52% กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ 363 บาทต่อวันเพิ่มขึ้นวันละ 10 บาท คิดเป็น 2.83% จังหวัดที่อัตราค่าจ้างต่ำสุดของประเทศคือ "นราธิวาส ปัตตานีและยะลา” อัตราใหม่ 330 บาทต่อวันเพิ่มขึ้น วันละ 2 บาท

 

การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติยืนตามมติเดิมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567

 

ดร.ธนิต กล่าวว่า การที่คณะกรรมการค่าจ้างยืนยันอัตราค่าจ้างสวนทางกับข้อปรารภของนายกรัฐมนตรีที่ให้มีการทบทวนค่าจ้างใหม่ที่ออกมาต่างไปจากช่วงหาเสียง ประเด็นนี้ถือเป็นการยึดมั่นในหลักการของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่ไม่ต้องการให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซง 

ทั้งนี้ในช่วงเริ่มประชุมมีการนำเรื่องความเห็นของรัฐมนตรีและนำสูตรที่ใช้ในการคำนวณค่าจ้าง ซึ่งทางฝ่ายรัฐจัดทำขึ้นมาใหม่อาจจะทำให้อัตราค่าจ้างสูงขึ้น เช่น กทม. ปรับขึ้นจาก 10 บาทเป็น 26 บาท แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นในสัดส่วนดังกล่าว

กรรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างไม่ยอมรับสูตรใหม่ เพราะไม่เข้าใจที่มาที่ไป ส่วนที่อ้างว่า สูตรไม่เป็นวิชาการหรือจะเปลี่ยนสูตร ต้องเข้าใจว่าสูตรทางเศรษฐศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ที่จะใช้ในการคำนวณค่าจ้างมีความเป็นไปได้หลายสูตรขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ปัจจัยตัวแปรอย่างไร 

แต่ประการสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการไตรภาคี หากจะเปลี่ยนสูตรจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการไป จัดทำสูตรใหม่ มีความพยายามที่จะให้มีการพิจารณาสูตรแบบเร่งด่วนให้จบในการประชุมในสัปดาห์หน้า แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย 

 

การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติยืนตามมติเดิมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567

 

ดร.ธนิต ระบุว่า เท่าที่ทราบในการประชุมวันดังกล่าวทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างสามัคคีกันไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการพิจารณาขของบอร์ดค่าจ้าง ไม่ว่าค่าจ้างจะออกมาต่ำหรือสูง เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี หากปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง จะทำให้กลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคต 

การประชุมนอกจากมติเอกฉันท์ให้ยึดอัตราค่าจ้างตามมติเดิม ยังมีการเห็นชอบการพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่เป็นการปรับสูตรในรอบ 6 ปี ซึ่งจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างอัตราใหม่ แต่จะไม่มีผลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2567 

ทั้งนี้การประชุมไตรภาคีภาคเอกชน และแรงงานเห็นตรงกันว่าค่าจ้างที่สูงตามการหาเสียงของพรรคการเมือง หากมีการปรับจะกระทบต่อ การลงทุน-สถานประกอบการทั้งภาคการผลิตและบริการ โดยฉพาะ SMEs จะอยู่ยาก ฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งอยู่ในตลาดแรงงานเข้าใจถึงสถานภาพความเปราะบางของเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งแนวโน้มการทำงานไม่เต็มเวลาหรือการปิดกิจการจะสูงขึ้น ค่าจ้างจะต้องทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่รอด และสามารถแข่งขันด้านราคาได้

โดยการปรับค่าจ้างของไทยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 และ กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีคณะกรรมการค่าจ้างปัจจุบันเป็นชุดที่ 22 ประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กร นายจ้าง-ลูกจ้างและหน่วยงานรัฐฝ่ายละ 5 คนรวมเป็น 15 คนมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานโดยตำแหน่ง 

 

เบื้องลึก \"ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ\" 2567 บอร์ดค่าจ้าง งัดข้อการเมืองแทรกแซง

 

ส่วนสูตรและปัจจัยตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณค่าจ้างเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่กำหนด (มาตรา 87 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) นอกเหนือจากการพิจารณาบอร์ดค่าจ้างทั้งส่วนกลางและอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ยังประกอบด้วยอนุกรรมการด้านวิชาการและกลั่นกรองมาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจ และภาควิชาการ รวมทั้งสูตรที่ใช้การคำนวณ

สำหรับกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงคือค่า L ราย จังหวัดเป็นอัตราสมทบของแรงงานหรือ Labor's Contribution มีความเห็นแย้งว่าควรตัดออกเพราะมี ผลกระทบต่อการปรับค่าจ้าง สำหรับข้อถกเถียงที่ไม่ลงตัวเกี่ยวข้องกับที่มาของผลิตภาพแรงงานหรือ Labor Productivity เนื่องจากลักษณะงานมีความแตกต่างกัน เช่น ภาคการผลิตและบริการอาจไม่สามารถวัดเชิง ปริมาณได้เพียงอย่างเดียว 

ขณะที่ประเด็น GDP ซึ่งเป็นปัจจัยในการคำนวณผลิตภาพแรงงานของจังหวัดต่างๆ ซึ่ง จะใช้ GPP ประเด็นคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปีพ.ศ. 2563-2564 อยู่ในช่วงโควิด-19 ทำให้ GDP ของประเทศปี 2563 หดตัว -6.2% และปี พ.ศ. 2564 ขยายตัวในอัตราตา 1.5% มีความพยายามที่จะให้ตัดออก แต่คณะกรรมการไตรภาคียังยืนยันที่จะใช้ค่าเฉลี่ยปี พ.ศ. 2562-2566 

นอกจากนี้ประเด็นที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเงินเฟ้อเพราะเงินเฟ้อปี พ.ศ. 2565 พุ่งสูงถึง 6.1% เนื่องจากอยู่ในช่วงเกิดความ ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อวิกฤตพลังงาน

จากที่กล่าวเห็นได้ว่าการคำนวณอัตราค่าจ้างของคณะกรรมการไตรภาคีใช้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐและการคำนวณใช้ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่ภาคการเมืองนำค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายหาเสียง จึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง