ลงนาม แก้สัญญา ไฮสปีด ช่วง"แอร์พอร์ตลิงก์ “ พ.ค. 67  ซีพีจ่ายรวด3พันล้าน

17 ธ.ค. 2566 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2566 | 09:22 น.
717

รฟท. -ซีพี ลงนาม แก้สัญญา ไฮสปีด” แอร์พอร์ตลิงก์ “ พ.ค. 67  ควักจ่ายย้อนหลัง  3,000ล้านลุยส่งอัยการสูงสุดพิจารณา 30 วัน  ชงครม.ไฟเขียว

 

หลังล่าช้ามานานในที่สุดได้ข้อสรุปการแก้ไขสัญญา โครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) กรณีการแบ่งจ่ายค่าบริหารสิทธิ์ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์  ในการการประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย  การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี  และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี

เมื่อวันที่ 14ธันวาคม2566ที่ผ่านมา และคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในเดือนพฤษภาคม2566 หลังจาก  เสนออัยการสูงสุด พิจาณา ร่างสัญญา30วัน ในเดือนมกราคม2567 และครม.พิจารณาเห็นชอบลำดับต่อไป

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ทางเอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 3 งวดย้อนหลัง วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาโครงการฯ ในครั้งนี้ จะสอดคล้องกับมติของ กพอ. ประกอบด้วย 3 เรื่อง

1.การชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในการผ่อนชำระ 7 งวด จากกรณีที่เอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 

2.แนบท้ายสัญญาที่มีเงื่อนไขหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในอนาคตจะสามารถเจรจาร่วมกับเอกชนได้

และ 3.การก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

 

 

ส่วนพื้นที่ทับซ้อนก่อสร้างโครงสร้างร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง บริเวณไฮสปีด ไทย-จีน ตามมติ กพอ.มีแนวทาง รฟท.ต้องเจรจากับเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยต้องก่อสร้างให้สอดคล้องกับทางมาตรฐานจีนที่รองรับโครงการไฮสปีดด้วย แต่หากเอกชนไม่ยินยอมก่อสร้างรฟท.ต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมกราคม 2567

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในสัญญา และเริ่มก่อสร้างในส่วนของ ช่วง สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ก่อน ส่วนพื้นที่ทับซ้อนตั้งแต่ดอนเมืองถึงบางซื่อรฟท.ต้องเจรจากับเอกชนให้บรรลุข้อตกลงต่อไป

 

นอกจากนี้ในประเด็นที่เอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนจากบีโอไอนั้น เรื่องนี้เป็นขั้นตอนในการยื่นบัตรส่งเสริม โดยต้องกรอกรายละเอียดของการลงทุนของสัญญา ซึ่งเอกชนมองว่าการแก้ไขร่างสัญญาอาจจะมีผลด้านการเงิน เช่น ในกรณีที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ปัจจุบัน รฟท.จึงอยู่ระหว่างหารือต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) โดยไม่ต้องรอบัตรส่งเสริมด้านการลงทุน