สกพอ. กระทุ้ง สภากทม. เร่งถอนลำรางที่ดิน "มักกะสัน"ส่งมอบพื้นที่ลุยไฮสปีด

08 ธ.ค. 2566 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2566 | 08:25 น.

  สกพอ.กระทุ้ง สภากทม. เร่ง ถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์บริเวณ TOD มักกะสัน ตามระเบียบมหาดไทย หลังต้องขอหลักฐานเพิ่มเติม เร่งส่งมอบพื้นที่ลุยไฮสปีด

 

การส่งมอบพื้นที่ โครงการ พัฒนาเชิงพาณิชย์ ( TOD) บริเวณรอบสถานีมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี คู่สัญญา ส่วนหนึ่งในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบัน ยังติดปัญหารอสภากรุงเทพมหานคร พิจารณา ถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์ หากยังส่งมอบพื้นที่ในส่วนนี้ไม่ได้เท่ากับการเข้าพื้นที่ก่อสร้างส่วนของไฮสปีดจะล่าช้าไปด้วย เพราะเอกชนต้องการเคลียร์ให้ครบทั้งสองส่วน100%

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่โครงการฯและการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการฯ (TOD มักกะสัน และศรีราชา) ของรฟท. ให้เอกชน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนฯ นั้น

เอกชนร้องขอให้รฟท. และสกพอ. สนับสนุนการขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์บริเวณ TOD มักกะสัน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งลำรางฯ ดังกล่าวไม่ใช่เงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่

ปัจจุบัน สกพอ. ได้ดำเนินการตามระเบียบข้างต้น และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอ ญัตติขอความเห็นชอบกรณีการขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์ บริเวณพื้นที่มักกะสันในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 5) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 แล้ว เบื้องต้นการพิจารณาของสภากทม.ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากมีข้อมูลรายละเอียดจำนวนมากที่ฝ่ายบริหารกทม.ต้องนำเสนอเพิ่มเติม

ย้อนไปก่อนหน้านี้เอกชนคู่สัญญาพบว่าบริเวณด้านหลังของโฉนดที่ดินแปลงมักกะสัน(โซนA) 150 ไร่ มีลำรางสาธารณะปรากฎอยู่ สถาบันการเงินไม่อาจอนุมัติวงเงินกู้เพื่อดำเนินการก่อสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินได้ ถึงแม้รฟท.ระบุว่าได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ลำรางสาธารณะเป็นพื้นที่ตั้งของพวงรางรถไฟนานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีผลทางกฎหมายเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินลำรางสาธารณะย่อมมีปัญหาต่อการพัฒนาตามมาภายหลัง

 ทั้งนี้เอกชนขอให้รฟท.หาแนวทางถอนสภาพลำรางสาธารณะออกจากโฉนดที่ดินโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการรับมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน จะเดินต่อไม่ได้ เนื่องจากเอกชนมองว่า โครงการทั้งสองส่วนต้องไปพร้อมกัน ทำให้รฟท.ต้องเลื่อนออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ออกไป เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยการยื่นขอแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพลำรางสาธารณะ ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีโดยกรมที่ดินต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และเปิดรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ ของกรมป่าไม้

ช่วงที่ผ่านมาตามข้อตกลงคณะกรรมกรรมการ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบ ด้วยรฟท. สกพอ.และเอกชน เพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับลำรางสาธารณะที่เอกชนพบปรากฎอยู่บนโฉนดที่ดิน โครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์มักกะสัน โดยรฟท.ได้มีหนังสือหารือไปยังกฤษฎีกาและอัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยว่า

1.กรณีหลักฐานลำรางสาธารณะที่ปรากฎอยู่บนที่ดินมักกะสันถือเป็น หนึ่งในเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่หรือไม

2.เอกชนคู่สัญญาสามารถรับมอบพื้นที่เข้าดำเนินโครงการก่อนการถอนสภาพลำรางสาธารณะได้หรือไม่

3.ลำรางเสื่อมสภาพไม่มีประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกันและมีหลักฐานรฟท.ใช้งานเป็นที่ตั้งของพวงรางเดินขบวนรถ ยังถือเป็นลำรางสาธารณะหรือไม่

 แหล่งข่าวจากรฟท.กล่าวว่า ประเด็นลำรางสาธารณะไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ของรฟท. ที่สำคัญกฤษฎีกาและอัยการสูงสุดยังเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้สกพอ.และกระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลกทม. ทำงานร่วมกัน และให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศยกเลิกลำรางสาธารณะที่ปรากฎหลักฐานว่าเสื่อมสภาพไม่เคยมีประชาชนใช้ประโยชน์บนที่ดินมักกะสันซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองของกทม.เป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อให้เอกชนคู่สัญญาสามารถเข้าพื้นที่ได้ก่อนตามกำหนดสัญญาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถอนสภาพลำลางสาธารณะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นที่ดินตามกฎหมายต่อไป

  รฟท.ยืนยันว่าการออก NTP เริ่มงานก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินนั้นมีความพร้อมอย่างมาก ติดปัญหาเพียงพื้นที่ลำรางสาธารณะซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนเล็กน้อย 1% ของพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งหมด ขณะที่เอกชนยืนยันว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ อาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหา ทำให้แผนส่งมอบพื้นที่จะล่าช้ากว่าแผนออกไป

               “เราก็เข้าใจดีกว่าโครงการฯทั้งแนวเส้นทางและ TOD เป็นส่วนที่สอดคล้องกัน เพราะการพัฒนาโครงการจะเกื้อหนุนกัน ดังนั้นก็จำเป็นต้องออก NTP พร้อมกัน แต่พื้นที่ที่ติดปัญหานี้เป็นลำรางสาธารณะที่มีมานานมากแล้ว ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการใช้งาน แทบไม่เห็นแล้วว่ายังมีพื้นที่ลำรางสาธารณะอยู่ แต่รายละเอียดตามโฉนดยังพบว่ามีลำรางเท่านั้น”