รฟท.เร่งปิดดีลไฮสปีด3สนามบิน เอกชนผวางบบานปลาย

01 ธ.ค. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2566 | 13:46 น.
3.4 k

    รฟท.ลุยปิดดีลไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งเจรจาแก้สัญญาจบปีนี้ เอกชนยืนกรานไม่สร้างโครงสร้างร่วมไทย-จีน กังวลงบบานปลาย 2 หมื่นล้าน ฟากอีอีซีเบรกขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โยนคลังพิจารณา ส่วนตั้งกองทุนฉุกเฉินรอหารือ เผยอีอีซี ส่อเป็นคู่สัญญาเอกชนเพิ่ม หวังช่วยพัฒนาพื้นที่

 

ความล่าช้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน หรือไฮสปีด (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ส่งผลให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องเร่งรัดเจรจาเอกชนปมแก้สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะกรณี แบ่งชำระค่างวด โครงการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะปัญหาใหญ่

ที่อาจทำให้ ทั้งโครงการเกิดความล่าช้าและดึงโครงการเมืองการบินอู่ตะเภา ช้าตามไปด้วย คือ เอกชนไม่รับข้อเสนอก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน หรือโครงสร้างร่วมระหว่างรถไฟไทย-จีนกับ ไฮสปีด 3 สนามบิน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อโดยให้เหตุผลว่า มีความกังวล งบลงทุนอาจบานปลาย มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ทั้งนี้รฟท.ยืนยันว่าจะเจรจาต่อรองให้ถึงที่สุด

 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้า โครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ที่รฟท. เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นคู่สัญญาสัมปทาน ปัจจุบันยังไม่ได้มีการนัดหารือทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย รฟท.,บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) และอีอีซี ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนในเรื่องการแก้ไขสัญญา คาดว่าจะเร่งเจราจาให้จบภายในปีนี้

ปัดสร้างโครงสร้างร่วมรถไฟไทย-จีน

ส่วนกรณีที่เอกชนไม่ยินยอมสร้างโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ทับซ้อนกับโครงไฮสปีด ไทย-จีน เพราะกังวลงบลงทุนบานปลาย 20,000 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นรฟท.ขอให้ทางเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งทางเอกชนมองว่าหากให้เอกชนเป็นผู้ก่อสร้างโดยที่ไม่ได้เงิน อีกทั้งต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้รฟท.ต้องเจรจากับเอกชนต่อให้แล้วเสร็จ

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า หากท้ายที่สุดแล้วเอกชนไม่ยอมดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เบื้องต้นรฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง แต่รฟท.ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เพราะจะทำให้โครงการล่าช้าและเสียเวลาในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 1 ปี ทั้งนี้รฟท.ตั้งเป้าหมายลงนามแก้ไขสัญญาไฮสปีดฯจะสามารถดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 1-2 ปี 2567

ขณะเดียวกันรฟท.ได้ขอเจราจากับทางการจีนในการลดแบบก่อสร้างมาตรฐานจีนของโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ในยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี กำหนดให้แบบก่อสร้างมาตรฐานจีนจากเดิมสามารถรองรับความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. เหลือความเร็วความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. แต่ปัจจุบันทางการจีนยังไม่ตอบกลับมา

เร่งปิดดีล แก้สัญญา

   ความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาไฮสปีดในประเด็นเกี่ยวกับการชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยเป็นการผ่อนชำระ 7งวด พร้อมรับดอกเบี้ยและภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามมติกพอ.นั้น ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคม 2566 รวมถึงการส่งมอบพื้นที่เพื่อแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ขณะนี้เอกชนอยู่ระหว่างรอได้รับบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่ง่าย

  นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า กรณีที่เอกชนขอให้ภาครัฐช่วยหามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินนั้น เบื้องต้นทางอีอีซีมองว่าเป็นเรื่องยากเพราะตามปกติแล้วภาครัฐยังไม่เคยขอมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เอกชน ทั้งนี้มีหลายประเด็นที่ยังต้องหารือร่วมกัน เพราะอยู่ในแพ็กเกจเดียวกัน

  “แนวโน้มจะหามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เอกชนได้หรือไม่นั้นคงต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา เพราะอีอีซีไม่เคยดำเนินการในเรื่องลักษณะแบบนี้ ซึ่งต้องพิจารณาในแพ็กเกจอีกทีว่าเป็นเป็นอย่างไร”

   ส่วนกรณีที่เอกชนขอให้ภาครัฐตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อใช้ในโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินนั้น คงต้องดูรายละเอียดก่อน เบื้องต้นต้องหารือร่วมกันอีกที โดยที่ผ่านมาในสัญญาไม่ได้ระบุข้อความในกรณีที่เกิดเหตุวิสัยหรือเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเรื่องมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและกองทุนฉุกเฉิน ทำให้ปัจจุบันเกิดการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสัญญา

   “แนวโน้มการตั้งกองทุนฉุกเฉินจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเรายังไม่ทราบว่ากองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่ออะไรและเอาไปดำเนินการฉุกเฉินในเรื่องใดบ้าง รวมทั้งจะใช้งบประมาณกองทุนจากที่ไหน ซึ่งต้องหารือร่วมกันก่อน”

   กรณีที่เอกชนขอให้เพิ่มอีอีซีเป็นคู่สัญญาในโครงการฯด้วยนั้น มองว่าต้องพิจารณาก่อนว่าเอกชนให้อีอีซีเข้าไปดำเนินการในเรื่องใด หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการรถไฟไฮสปีดฯ ทางอีอีซีไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะอยู่ในความดูแลรับผิดของรฟท. แต่หากเป็นเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่อาจมีความเป็นไปได้ที่อีอีซีจะเป็นคู่สัญญาร่วม ซึ่งจะต้องระบุหน้าที่ของอีอีซีด้วย

  สำหรับปัญหาที่เอกชนขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ดังนี้

1.ขอให้รัฐพิจารณาปรับวิธีการชำระเงินร่วมลงทุน

2.ขอให้ภาครัฐช่วยหามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน )

3.ขอให้ภาครัฐตั้งกองทุนฉุกเฉิน

4.ขอให้เพิ่ม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี เป็นคู่สัญญา

เปิดสิทธิประโยชน์

 ขณะแผนลงทุนและสิทธิประโยชน์ ในพื้นที่อีอีซี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (EEC Visa) ซึ่งเป็นครั้งแรกของการจัดสิทธิประโยชน์ภายใต้กฎหมายของสำนักงาน EEC ให้กับนักลงทุนเมื่อ24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาภายใต้ EEC Visa แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

 1.ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประเภท Specialist : EEC Visa “S”

2.ผู้บริหาร ประเภท Executive : EEC Visa “E”

3.ผู้ชำนาญการ ประเภท Professional : EEC Visa “P” และ

4.คู่สมรสและผู้ติดตาม ประเภท Other : EEC Visa “O”

 สำหรับรับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญๆ ได้แก่ ได้รับ EEC Work permit อัตโนมัติ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ อัตราคงที่ 17% อายุ VISA สูงสุด 10 ปี ตามระยะเวลาตามสัญญาจ้าง ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สามารถรายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast track) ณ สนามบินนานาชาติทั่วประเทศ ไทย โดยเริ่มขอรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ไฮสปีด