“เศรษฐา” ถกยักษ์เอกชนจีน จีบลงทุนไฮสปีดเทรน EV ตั้งเฮดควอเตอร์ ในไทย

17 ต.ค. 2566 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2566 | 16:41 น.

“เศรษฐา” หารือผู้บริหารจากยักษ์เอกชนของจีน หลายบริษัท ทั้ง CITIC CRRC Ping An Xiaomi Alibaba ชวนลงทุนในไทย ลงทุนไฮสปีดเทรน EV ตั้งเฮดควอเตอร์ ขอให้ขยายความร่วมมือพัฒนาทักษะคนไทยเพิ่ม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมประชุม เวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2566

โดยวันนี้ (17 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีมีคิวหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของจีนหลายราย โดยเฉพาะในวันแรกที่นายกฯ เดินทางไปถึงประเทศจีนนั้น ได้หารือร่วมกับผู้บริหารเอกชนยักษ์ใหญ่ของจีน สรุปได้ดังนี้

ดึง CITIC ตั้งเฮดควอเตอร์ 

เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่งซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชม.) นายกฯ หารือกับผู้บริหาร CITIC Group Corporation ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจการบริการทางการเงินแบบครบวงจรรายใหญ่ของจีน โดยนายกฯ ได้ เชิญชวนให้ CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ 

รวมทั้งเชิญชวนให้มาตั้ง Regional Headquarter ซึ่งบริษัทฯ พร้อมพิจารณาการขยายความร่วมมือกับไทยในอีกหลายด้าน โดยเฉพาะสาขาที่ไทยสนใจ เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

อีกทั้ง นายกฯ ยังชวนมาขยายธุรกิจด้านการเงินในไทย ซึ่ง CITIC มีธุรกิจเกี่ยวข้องการเงินอยู่ด้วยแล้ว เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มีใบอนุญาตทางการเงินการธนาคารครบถ้วนและอยู่ในอันดับต้น ๆ ในจีน จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทยได้ จะได้หารือในขั้นตอนต่อไป 

พร้อมกันนี้ยังเชิญชวนบริษัทฯ เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในลักษณะ Supply Chain เช่น ล้อแม็กซ์ ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไทยสนับสนุนมาตรการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนที่น่าสนใจด้วยมาตรการของบีโอไอ

 

นายกฯ หารือกับผู้บริหาร CITIC Group Corporation

จีบ CRRC ร่วมทำไฮสปีดเทรน

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหาร CRRC Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยบริษัทฯ แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทยในส่วนที่มีศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย 

รวมถึงในสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัท เพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยเชื่อมั่นว่า บริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางในไทยแบบครบวงจร โดยยินดีร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งรถไฟเพื่อการขนส่งอื่น ๆ ด้วย

เช่นเดียวกับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยนายกฯ ได้วาดภาพแผนที่และเส้นทางของแลนด์บริดจ์ของไทย ให้กับภาคเอกชนดูด้วยตัวเอง พร้อมอธิบายการพัฒนาท่าเรือทั้งสองฝั่งให้กับเอกชนรับทราบด้วย

 

นายกรัฐมนตรี หารือกับผู้บริหาร CRRC Group

Ping An ขยายประกันภัยในไทย

ต่อมาเวลา 11.00 น. นายกฯ หารือกับผู้บริหารบริษัท Ping An ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน รวมถึงธุรกิจประกันภัย โดย Ping An มีการดำเนินธุรกิจในไทยในหลากหลายสาขา เกี่ยวกับการเงินสุขภาพ สำหรับผู้สูงอายุ และการแพทย์ ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สาธารณสุข จึงคิดว่าสามารถร่วมมือกับไทยได้

โดย นายกฯ เชิญชวนให้มาลงทุนในไทยให้มากขึ้น ไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากบริษัท ในทุกด้านที่บริษัทเชี่ยวชาญ เช่น healthcare และ การเงิน ซึ่งบริษัทจะขยายการบริการประกันภัยนอกประเทศ จะพิจารณาไทยเป็นประเทศแรก สำหรับ healthcare นั้น บริษัทฯ ขายประกัน และมีลูกค้าประกันสุขภาพขนาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องมี healthcare รองรับซึ่งไทยมีบริการด้านนี้ และ wellness เป็นที่ยอมรับ 

อีกทั้งไทยมีความร่วมมือด้าน Visa ซึ่งอาจขยาย ไปสู่การผ่อนปรนเงื่อนไขของ Visa สำหรับกลุ่ม Medical Tourism และ กลุ่มคนที่ต้องการใช้บริการการแพทย์ด้านการมีบุตร บริษัทฯ ได้ย้ำว่า จีนนิยมไปไทยในอันดับต้นๆ ทั้งท่องเที่ยว การรักษา รวมถึงการหาที่อยู่ในระยะยาวและ การหารือกับนายกฯ ทำให้ สนใจลงทุนในไทยมากขึ้น

 

นายกฯ หารือกับผู้บริหารบริษัท Ping An

 

ชวน Xiaomi ขยายลงทุนเพิ่ม 

ช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. นายกฯ หารือ ผู้บริหารของบริษัท Xiaomi ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ โดยบริษัทฯ มีเครือข่ายและธุรกิจทั่วโลก และเริ่มธุรกิจในไทย ปี 2561 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีไทยเป็นเฮดควอเตอร์ในภูมิภาค รวมถึงการให้การสนับสนุนไทยในด้านต่างๆ เช่น ในช่วงโควิด หรือการศึกษา 

พร้อมจัดตั้งบริษัท Xiaomi Technology (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจำหน่าย และทำการตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย รวมทั้งขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง และตลาดอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือไทยโดยผู้บริหารพร้อมสนับสนุนการขยายตลาดและการลงทุนในประเทศไทย เชื่อว่า ไทยมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจที่บริษัทจะได้ประโยชน์ในการลงทุนและขยายตลาดในพื้นที่

ทั้งนี้ นายกฯ เชิญชวนให้บริษัทขยายการลงทุน และการค้าในไทย รวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นโอกาสของบริษัทในการร่วมกันพัฒนาในกรอบ BRI ซึ่งบริษัทฯ กำลังมองหาสถานที่ผลิต หรือโรงงานการผลิต เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจในหลายๆด้านที่เกี่ยวข้อง และให้ความมั่นใจการเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาค 

 

นายกฯ หารือ ผู้บริหารของบริษัท Xiaomi

 

จีบ Alibaba ช่วยพัฒนาทักษะดิจิทัล

จากนั้นเวลา 14.00 น. นายกฯ หารือกับผู้บริหาร Alibaba Group ซึ่งเป็นบริษัท e-commerce รายใหญ่ ให้บริการและพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ระบบ Alibaba Cloud Computing และระบบการชำระเงิน Alipay พร้อมขยายความร่วมมือการลงทุน ได้แก่ E-commerce training สำหรับบุคลากรและแรงงานไทย

โดยนายกฯ ขอบคุณ Alibaba สำหรับความมั่นใจและการลงทุนใน Cloud Service หวังว่าจะได้รับการขยายการลงทุน และ Alibaba จะสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสในการลงทุนไทยได้อีกมาก 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในด้านดิจิทัล และเสนอให้ตั้ง smart digital hub ในไทย ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ Travel platform เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ กำลังขยายการดำเนินการ และเป็นไปด้วยดี ซึ่งกำลังร่วมมือกับ ททท. ของไทยเสนอรัฐบาลสำหรับมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

 

นายกฯ หารือกับผู้บริหาร Alibaba Group