ผุดศูนย์ธุรกิจอีอีซี 5.3 แสนล้าน ดัน ชลบุรี ติด 1 ใน 10 เมืองอัจฉริยะโลก

26 พ.ย. 2566 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 17:13 น.
3.4 k

เปิดแผนสกพอ. ลุยตั้ง “ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” ระยะที่ 1 วงเงิน 5.3 แสนล้านบาท บนที่ 5,795 ไร่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมที่อยู่อาศัย เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สกพอ. อยู่ระหว่างการผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้ง เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ “ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” ในพื้นที่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ห่างจากพัทยาช่วงจอมเทียนประมาณ 10 กิโลเมตร และสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 15 กิโลเมตร โดยจะประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ พื้นที่ประมาณ 5,795 ไร่ เพื่อพัฒนาโครงการระยะที่ 1 มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 534,985 ล้านบาท

แผนที่โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ “ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” ที่จะตั้งขึ้น เพื่อกิจการพิเศษรองรับการทำธุรกิจที่สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษดิจิทัล อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ตามแผนการพัฒนา สกพอ. ตั้งเป้าหมายให้ศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ที่จะตั้งขึ้นเป็นเป็นศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์บริการทางการเงินศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต ศูนย์การศึกษา วิจัย พัฒนาระดับนานาชาติ ศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้าน และบริการอื่นๆ เพื่อรองรับการทำธุรกิจที่สนับสนุนการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวเนื่อง

สกพอ. วิเคราะห์ว่าโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ตลอดจนรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการประกอบการที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รองรับกิจการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580

แผนที่โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ระยะที่ 1

สำหรับแผนการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ระยะที่ 1 พื้นที่ประมาณ 5,795 ไร่ คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2575 จะรองรับประชากรประมาณ 100,000 คน (จากการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 14,619 ไร่ ในปี พ.ศ. 2580 เพื่อรองรับประชากรประมาณ 350,000 คน รวมประชากรในพื้นที่เดิมและคนเดินทางเข้าออกพื้นที่)

การพัฒนาศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ระยะที่ 1 จะดำเนินการพร้อมกับการพัฒนาธุรกิจและกิจการเป้าหมายรูปแบบต่างๆ ทำให้มีแรงดึงดูดให้ประชากรและแรงงานเข้ามาในพื้นที่โครงการ และมีแนวโน้มในการย้ายถิ่นฐานสู่เมืองใหม่ เนื่องจากมีปัจจัยบวกในการดึงดูดแรงงาน สามารถสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในพื้นที่โครงการและบริเวณโดยรอบ โดยพื้นที่โครงการสามารถตอบสนองความต้องการในการหาที่อยู่อาศัยที่สามารถยกระดับชีวิตและความต้องการหาแหล่งงานใหม่ๆ รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
 

แผนตั้งศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ระยะ 10 ปี (2566 - 2575)

  • 2566 ดำเนินการออกแบบรายละเอียด
  • 2567 ปรับพื้นที่ เริ่มก่อสร้างถนนและระบบสาธารณูปโภคบางส่วน
  • 2568 เป็นต้นไป เริ่มเปิดให้เอกชนที่มาเช่าที่ดินเพื่อพัฒนา
  • 2566 - 2567 จะมีการจัดทำ Market Sounding การประชาสัมพันธ์และการชักจูงการลงทุน ตลอดจนการเตรียมการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาพื้นที่จะเป็นไปตามผังแม่บทและกิจการธุรกิจเป้าหมายที่วางไว้ตามแผนปฏิบัติการด้านโครงการฯ ได้แก่ ศูนย์สานักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการ ศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์บริการทางการเงิน ศูนย์การแพทย์แม่นยำและการแพทย์เพื่ออนาคต (บางส่วน) ศูนย์การศึกษาวิจัย-พัฒนาระดับนานาชาติ (บางส่วน) ศูนย์ธุรกิจอนาคต (บางส่วน) และที่อยู่อาศัย

มูลค่าลงทุนศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 534,985 ล้านบาท 

  • การลงทุนโดยภาครัฐ ได้แก่ สกพอ. และหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องประมาณ14,934 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของมูลค่าการลงทุน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง ประกอบด้วย ค่าชดเชยที่ดิน ค่าเตรียมการพัฒนาโครงการ ค่าปรับพื้นที่ ค่าก่อสร้างถนน สะพานทางเท้า งานภูมิทัศน์ภายในโครงการ รวมถึงค่าก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้า ค่าก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ค่าระบบท่อส่งน้ำประปาและถนนเชื่อมโครงข่ายภายนอกเข้าสู่โครงการ
  • การร่วมลงทุนระหว่างรัฐหรือรัฐวิสาหกิจและเอกชน หรือเอกชนลงทุน ประมาณ 51,976 ล้านบาท คิดเป็น 9.7% ของมูลค่าการลงทุน ประกอบด้วย ค่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคภายในเมือง
  • การลงทุนโดยภาคเอกชน ประมาณ 468,075 ล้านบาท คิดเป็น 87.5% ของมูลค่าการลงทุน ประกอบด้วย ค่าลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่เชิงพาณิชย์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

  • เกิดเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะระยะที่ 1 รองรับประชากรประมาณ 100,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งคนในพื้นที่ดั้งเดิม
  • มีแหล่งงานประเภทต่างๆ สร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 50,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 มีแรงงานทักษะสูง มีรายได้ที่สูงขึ้น มีธุรกิจและบริการมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ประมาณ 150 - 300 กิจการ
  • เป็นเมืองที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบาย และทันสมัยเป็นสากลในการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับประชาชนทุกคน ไม่เพิ่มปัญหา และไม่แข่งขันกับเมืองเดิม แต่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันภายในปี 2580
  • มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมอัจฉริยะที่สะดวกรวดเร็ว มีระบบสาธารณูปโภค และระบบสาธารณูปการที่ครบถ้วน มีประสิทธิภาพและเพียงพอ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและมีที่อยู่อาศัยคุณภาพชั้นดีสาหรับคนในพื้นที่

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก