พิพัฒน์ ชง ครม.พรุ่งนี้ ตีกลับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567 - ศึกษาใหม่

11 ธ.ค. 2566 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2566 | 10:07 น.
523

พิพัฒน์ ชง ครม.พรุ่งนี้ ตีกลับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567 - ศึกษาใหม่ เล็ง ถามกฤษฎีกา แก้กฎหมาย เตรียมหารือบอร์ดไตรภาคีนอกรอบขยับเพิ่ม

วันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า มติคณะกรรมการไตรภาคีมีมติเห็นชอบอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567  น้อยเกินไป ว่า ตนเองคงทบทวนอะไรไม่ได้ ถึงแม้ว่าอยากจะทบทวนใหม่ แต่อำนาจของรัฐมนตรีไม่สามารถทำอะไรได้ และเป็นเรื่องของบอร์ดไตรภาคี จึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.66) เพื่อสั่งให้ทบทวนใหม่ 

นายพิพัฒน์กล่าวว่า โดยมีเงื่อนไขต้องพิจารณาอัตราการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่าเงิน เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งปี 63-64 เป็นช่วงที่มีผลกระทบทั้งโลกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจติดลบหนักมา ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณเฉลี่ยค่าแรงในปี 67 เพราะเศรษฐกิจปี 66 กำลังฟื้นตัวดีขึ้น จากปัจจัยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาเพิ่มขึ้น ปี 67 รัฐบาลจะมีมาตรการบูตเศรษฐกิจ เช่น เงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท จำนวน 50 ล้านคน จึงต้องประเมินว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นแน่นอน ดังนั้นตนจึงไม่เห็นด้วยที่จะนำตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ตกต่ำที่สุดมาพิจารณา 

“ผมในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแลบอร์ดไตรภาคีเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ ผมมีทางเดียวคือยื่นเรื่องเข้าเข้าครม.เพื่อตีกลับมา และสั่งการให้มีการศึกษาใหม่”นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การศึกษาใหม่เป็นไปได้หรือไม่ จะใช้ค่าเฉลี่ยในปี 60 ปี 61 และ ปี 62 ไม่นำปี 63 และ ปี 64 เข้ามาพิจารณา หรือใช้ค่าเฉลี่ยเพียง 4 ปี คือ ปี 60 ปี 61 ปี 62 และ ปี 65 ได้หรือไม่ ซึ่งจะได้ค่าแรงในปี 67 และต่อยอดเข้าสู่ปี 68 

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ในปี 56 สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันจาก 200 บาท เป็น 300 บาท สามารถทำได้ เพราะไม่มีการกำหนดว่า ต้องใช้ฐานข้อมูลตัวเลข ค่าเฉลี่ยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าครองชีพ แต่ปัจจุบันเราเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานโลก (ILO) (เป็นสมาชิกปี 2560) ซึ่งบังคับให้ประเทศสมาชิกใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขขั้นต่ำ 

พิธีกรถามว่า ข้อจำกัดทางกฎหมาย คือ ต้องใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจย้อนหลัง 5 ปี  บอร์ดไตรภาคีจะไปเปลี่ยนบทบัญญัติ ข้อกฎหมายต้องทำอย่างไร หรือต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) นายพิพัฒน์กล่าวว่า อาจจะต้องหาวิธีเชิญบอร์ดไตรภาคีมาหารือนอกรอบ ไม่ใช่คุยในห้องประชุม เพราะตนไม่มีสิทธิ์เดินเข้าห้องประชุม และต้องหารือกับกฤษฎีกาว่ามีทางออกให้กับเราหรือไม่

“ถ้าบอร์ดไตรภาคียืนยันกลับมา เราก็คงทำอะไรยากมาก เพราะเรามีบอร์ดไตรภาคีแล้ว ไม่มีใครสามารถแทรกแซงได้ ยกเว้นเอาเหตุผลมาโน้มน้าว แต่ปัญหาคือการประชุมบอร์ดไตรภาคีปีนี้ที่ออกมา เคาะกันมาตั้งแต่ +2 บาท จนถึง +16 บาท เป็นมติเอกฉันทน์ ทั้ง 3 ฝ่าย (ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐ) เห็นด้วยทั้งหมด เราเป็นฝ่ายรัฐจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยไม่มีประโยชน์”นายพิพัฒน์กล่าว