ฟังมุมนายจ้าง "ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ" บนเศรษฐกิจปี 2567 ที่ยังเปราะบาง

09 ธ.ค. 2566 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2566 | 10:45 น.
533

ฟังเสียงเอกชนฝั่งนายจ้าง หลัง ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ อัตราใหม่ 77 จังหวัด ได้ข้อสรุปแล้ว เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังมีความเปราะบาง

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยรายงานพิเศษ "ค่าจ้างขั้นต่ำ" อัตราใหม่ ภายใต้ความเปราะบางของเศรษฐกิจปี 2567 ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำถูกใช้เป็นจุดขายการตลาดช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลังจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนโยบายผลักดันเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มาพร้อมกับค่าจ้าง 400 บาท 

ในช่วงแรกมีความคึกคักที่จะผลักดัน แต่ช่วงหลังเงินดิจิทัลถูกยืดไปอย่างน้อยเดือนพฤษภาคมปีหน้า ด้านการปรับอัตราค้าจ้างซึ่งช่วงหลังผู้นำรัฐบาลกล่าว ว่าเป็นเพียงเป้าหมายให้ไปถึง 400 บาท แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง หลังจากกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี มีการคุยกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา และวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อหาข้อสรุป 

หลังจากมีการเจรจา 3 ฝ่าย ที่สุดสามารถปรับค่าจ้างเป็น 17 อัตรา ครอบคลุม 77 จังหวัด โดยอัตราการปรับค่าจ้างทั่วประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.37% จังหวัดที่ได้ค่าจ้างสูงสุด คือ "ภูเก็ต" อัตราค่าจ้าง 370 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นวันละ 16 บาท คิดเป็น 4.52% สำหรับจังหวัดที่ได้ค่าจ้างต่ำสุดของประเทศ คือ "นราธิวาส ปัตตานีและยะลา" เพิ่มขึ้นวันละ 2 บาทคิดเป็น 0.61% 

ขณะที่ กทม. และปริมณฑลอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 363 บาท เพิ่มขึ้นวันละ 10 บาท คิดเป็น 2.832% หลังจากนำเสนอ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 12 ธันวาคม 2566 แรงงานทั่วประเทศ จะได้รับค่าจ้างใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

 

ฟังมุมนายจ้าง \"ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ\" บนเศรษฐกิจปี 2567 ที่ยังเปราะบาง

 

 

เบื้องหลังการต่อรองไตรภาคี

เบื้องหลังการต่อรองของคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต่างทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์เต็มที่ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปีนี้ ซึ่งยังอยู่ในอาการซึมต่อเนื่องมาจากปี 2565 เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลงทำให้ GDP ปี 2566 อาจขยายตัวได้ไม่เกิน 2.5% 

เป็นผลจากการส่งออก ถึงแม้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มเป็นบวก แต่โดยภาพรวมการส่งออกปีนี้อาจหดตัว 1.62% ด้านการลงทุนขยายตัวได้เล็กน้อย สำหรับภาคท่องเที่ยวซึ่งมีการฟื้นตัวอย่างเป็นนัย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 28 ล้านคนแต่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย สำหรับปีหน้าคาดว่าอาจจะถึง 35-36 ล้านคน 

การที่ท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งผลต่อการบริโภคประชาชนที่ขยายตัวได้ 7.8% ด้านอุตสาหกรรมการผลิตยังทรงตัว กำลังการผลิตหดตัว 4% สำหรับปี 2567 ยังมีความไม่แน่นอนและเปราะบาง มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัว ได้ประมาณ 3.2% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกปีหน้ายังอยู่ในช่วงชะลอตัวหรือฟื้นตัวแบบช้าๆ 

ประเทศคู่ค้า หลัก เช่น สหรัฐอเมริกา, อียู, ญี่ปุ่น, จีน เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำ ซึ่งจะเป็นความเสียงการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ขณะนี้เริ่มเห็นสถานประกอบการบางแห่งเริ่มปลดแรงงาน หรือปิดกิจการ ซึ่งแนวโน้มในปีหน้าอาจมากขึ้น ปัจจัยที่กล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาพิจารณาในการปรับค่าจ้างครั้งนี้

 

ฟังมุมนายจ้าง \"ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ\" บนเศรษฐกิจปี 2567 ที่ยังเปราะบาง

 

นิยาม "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ"

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้จัดทำกรอบแนวทางและหลักเกณฑ์ ความเหมาะสม เริ่มจากนิยามกำหนดว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานแรกเข้า 1 คนให้สามารถดำรงชีพได้ตามความเหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ สังคมและความสามารถของธุรกิจ ในท้องถิ่นนั้น 

โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงาน หมายถึง ผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาหรือจบมาหลายปี แต่ไม่เคยทำงานหรือเคยทำงานมาแล้ว แต่ระยะเวลาการทำงานเก่ากับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่เกิน 1 ปี 

ด้านหลักเกณฑ์การพิจารณามีการกำหนดเป็นกรอบอยู่ในมาตรา 87 แห่งพรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560) ประกอบด้วย 6 หลักเกณฑ์ ซึ่งมีการจัดทำเป็นสูตรในการคำนวณทางเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์อย่างเป็น ระบบเป็นที่ยอมรับจากทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและกรรมการภาครัฐ หลักเกณฑ์การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น

  1. อัตราค่าจ้างที่แรงงานได้รับอยู่ โดยใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดเป็นฐานคำนวณ
  2. "Labor's Contribution” อัตราการสมทบของแรงงานต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เฉลี่ย 5 ย้อนหลัง
  3. อัตราการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยปี 2560-2564
  4. อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2562-2566 ซึ่งค่าเฉลี่ยประมาณ 1.70%
  5. มาตรฐานการครองชีพใช้ข้อมูลรายได้ต่อหัวประชากรแต่ละจังหวัดใช้ข้อมูลของ “สศช.”
  6. ตัวแปรเชิงคุณภาพ เช่น ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) อัตราการเปลี่ยนแปลงของ GPP จังหวัด ดัชนีเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศ (BSI) ใช้ข้อมูลของ ธปท. ฯลฯ 

 

ฟังมุมนายจ้าง \"ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ\" บนเศรษฐกิจปี 2567 ที่ยังเปราะบาง

 

แนะ กกต. คุมการเมืองอย่าใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง

จากที่กล่าวจะเห็นได้ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ มีเกณฑ์และรูปแบบที่ชัดเจน อ้างอิงหลักเศรษฐศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่สำคัญมีข้อกำหนดเป็นกฎหมายที่ชัดเจน กำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างและอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด หรือที่เรียกว่า ไตรภาคี 

แม้แต่การเสนอเข้าไปในครม.เป็นเพียงวาระเพื่อทราบ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ จะได้ไม่ไปเชื่อนักการเมืองที่จะนำค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นนโยบายหาเสียง 
ประการสำคัญองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น “กกต.” หรือคณะกรรมการเลือกตั้ง จะต้องกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีการละเมิดต้องมีบทลงโทษ ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง 

แม้แต่ทางวิชาการอาจารย์บางท่านยังไปชูประเด็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องเลี้ยงครอบครัวได้ 2-3 คน ให้สามารถผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ทั้งที่ปรากฏในนิยามชัดเจนว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าทำงานของคนหนึ่งคน ที่จะดำรงชีพได้ตามความเหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ-สังคม และความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอัตราอ้างอิงคุ้มครองแรงงาน โดยไม่จำกัดว่าเป็นแรงงานต่างด้าว-การศึกษา เพศ-ศาสนา ความเชื่อรวมไปถึงแรงงานสูงอายุหรือผู้พิการ เป็นการคุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบางให้ได้รับค่าจ้างอย่างน้อยขั้นต่ำเท่ากฎหมายกำหนด 

ประเทศไทยถึงแม้เปลือกนอกดูเหมือนจะเข้าสู่เศรษฐกิจ 4.0 แต่แท้จริงเนื้อในติดกับดักเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ฉากทัศน์เชิงประจักษ์ภาคการผลิต-บริการ เกษตรกรรม-เกษตรแปรรูป-ประมงส่วนใหญ่ ใช้แรงงานเข้มข้น ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ราคาต่ำขาดนวัตกรรมหรือแบรนด์ของตัวเอง 

ทำให้ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งส่งออก ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างต่ำกว่าไทยค่อนข้างมาก ค่าจ้างจึงต้องเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หรือมาตรการให้เศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะเป็นข้อถกเถียงกันไปอีกนาน