ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

06 ธ.ค. 2566 | 19:18 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2566 | 19:31 น.
1.1 k

ศูนย์วิจัยอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดรายงานทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทยภายใต้การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ มาตรการ AD เช็ครายละเอียดความท้าทายสำคัญ รวมทั้งข้อเสนอที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจเหล็กที่นี่

ศูนย์วิจัยอีไอซี (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยรายงานเรื่อง มาตรการ AD กับทางรอดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย...เพียงพอไหมให้เหล็กไทยไปไกลกว่าเดิม มีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping measure : AD) กับสินค้าเหล็กจากต่างประเทศที่มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดในไทย เพื่อปกป้องผู้ผลิตและอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศ ตั้งแต่ปี 2545 

แม้จะมีกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ทั้ง ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เช่น ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมถึงผู้ผลิตท่อเหล็กบางประเภทที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ 

แต่ก็มีกลุ่มที่ต้องเผชิญภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจาก AD ได้แก่ กลุ่มผู้นำเข้าเหล็ก และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโดยใช้เหล็กขั้นปลายจากการนำเข้ามาเป็นวัสดุตั้งต้นในการผลิต ไปจนถึงผู้ที่ใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กขั้นสุดท้าย เช่นเดียวกัน 

ดังนั้น การใช้มาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้าสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก จึงจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบรอบด้านตลอดทั้ง Supply chain ทั้งในส่วนของผู้ผลิตเหล็กกลางน้ำ และเหล็กปลายน้ำ ผู้ค้าเหล็กผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไปจนถึงผู้บริโภค

 

ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

 

ความจำเป็นของมาตรการ AD

SCB EIC มองว่า มาตรการ AD ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย แต่ยังต้องอาศัยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมควบคู่กันไป แม้ว่าในปัจจุบันนโยบายการค้าเสรี จะเป็นกลไกในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้า 

แต่หากเกิดสถานการณ์ที่สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด ซึ่งเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม จนสร้างผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ก็ต้องมีการปกป้องให้อุตสาหกรรมในประเทศยังสามารถดำเนินต่อไปได้

ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้มีการสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีก็ยังมีการใช้มาตรการ AD และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) กับสินค้าเหล็กทั้งหมดกว่า 23 รายการ ที่มาจากต่างประเทศรวม 36 ประเทศ

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กประมาณ 110,000 ราย ในโรงงานผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กทั่วประเทศราว 4,000 แห่ง ซึ่งหากเกิดกรณีที่เหล็กจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด จนกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ผลิตเหล็กในไทย จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งมูลค่าการค้าการลงทุน รายได้ของอุตสาหกรรม ไปจนถึงการจ้างงาน 

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องใน Supply chain ที่ต้องใช้เหล็กตามมา ทั้งภาคการก่อสร้างการผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออกที่สำคัญของไทย

 

ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

SCB EIC ได้วิเคราะห์ผลกระทบของการใช้มาตรการ AD ในระดับต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการจำลองสถานการณ์โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งผลการวิเคราะห์ พบว่า หากเหล็กจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาทุ่มตลาดในไทย จะกินส่วนแบ่งตลาดของเหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น 

ส่วนกรณีที่กำหนดให้ไทยยกเลิกการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กทุกประเภทที่มีสถานะใช้มาตรการอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลให้ราคาเหล็กนำเข้า ต่ำกว่าราคาเหล็กที่ผลิตในประเทศอยู่มาก ในระดับที่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้และส่งผลให้เหล็กนำเข้าถูกนำมาใช้ทดแทนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น 

โดยการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงประมาณ 0.19% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมเหล็กลดลงประมาณ 1.2% 

กรณีนี้จะส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศลดลงประมาณ 3.4 แสนตันหรือลดลง 4.7% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.6% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมลดลงราว 4.1%

ขณะที่การลดอัตราอากร AD ลงสำหรับสินค้าเหล็กที่ถูกใช้มาตรการ ตั้งแต่การลดอัตราอากรลงไปค่อนข้างมากที่ 50%จากอัตราอากรเฉลี่ยในปัจจุบัน ไปจนถึงการลดอัตราอากรไม่มากนักที่ 10% จากอัตราอากรเฉลี่ยในปัจจุบัน ก็จะยังคงส่งผลให้การผลิตเหล็กในประเทศหดตัว เนื่องจากการลดอัตราอากร AD กับสินค้าเหล็ก จะทำให้เหล็กนำเข้ายังมีความได้เปรียบทางด้านราคาอยู่มาก 

จึงมีความต้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาใช้งาน ทดแทนการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ โดยมีผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย รวมถึงยังไม่สามารถส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้จึงกล่าวได้ว่าการใช้มาตรการ AD รวมถึงการกำหนดอัตราอากรในปัจจุบัน ยังมีความจำเป็นในการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทย

จับตามาตรการระยะต่อไป

ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กรวม 12 รายการ ในอัตราอากร 0%-145.31% ของราคา CIF ประกอบด้วยเหล็กทรงแบน ทั้งเหล็กแผ่นรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวดคาร์บอนสูง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์หลอดหรือท่อที่ทำด้วยเหล็กกล้า 

อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กที่กำลังจะสิ้นสุดในระยะ 1-2 ปีนี้ ว่าจะมีการพิจารณาให้ยุติ หรือใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะการผลิตสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน ที่ยังคงต้องอาศัยการใช้มาตรการ AD เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในปัจจุบันมีการผลิตเพียง 20% จากความต้องการใช้งานเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมดของไทย

โดยยังมีความต้องการใช้งานเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นไปตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตรถยนต์ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า 

 

ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

 

ข้อเสนอขับเคลื่อนธุรกิจเหล็ก

SCB EIC มีข้อเสนอว่า ผู้ผลิตเหล็กต้องมีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยควบคู่กันไป โดยผู้ผลิตเหล็กในไทยที่มีความจำเป็นในการนำเข้าวัตถุดิบที่เป็นเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก 

เป็นข้อจำกัดในการควบคุมต้นทุน ยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการคำสั่งซื้อเหล็กกึ่งสำเร็จรูปนำเข้า อย่างสอดคล้องกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความต้องการใช้งาน ราคาเหล็ก อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอาจรวมกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในการสั่งซื้อในปริมาณมากที่ก่อให้เกิด Economies of Scale 

ผู้ประกอบการสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กของไทยควบคู่กันไป ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตเหล็ก เพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรม รวมถึงผลิตเหล็กที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก ทั้งเหล็กที่มีคุณภาพสูง และลดการปล่อยมลภาวะ 

ทั้งนี้จากความท้าทายด้านกำลังการผลิตเหล็กของไทย ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยอาจต้องอาศัยแนวทางการควบรวม รวมกลุ่มการผลิต รวมถึงพิจารณาใช้แผนการแลกเปลี่ยนกำลังการผลิต (Capacity swap plan) ระหว่างผู้ผลิตเหล็กรายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

นอกจากนี้การส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูงเพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Supply chain การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่ม Hi-tech อาทิ อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ การขนส่งระบบราง และพลังงาน 

รวมถึงการยกระดับการผลิตเหล็กที่ลดการปล่อยมลภาวะ เพื่อผลักดันให้เหล็กไทยเข้าไปอยู่ใน Green supply chain ตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการสร้างเครือข่ายในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน Supply chain 

เช่นเดียวกับการสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงจะเป็นโอกาสในการยกระดับศักยภาพในการผลิตเหล็กของไทยให้มีเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในยุโรปที่มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตเหล็ก และผู้ผลิตสินค้าที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กที่ปราศจากการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล (Fossil-free steel) ในกระบวนการผลิต เพื่อนำไปผลิตเป็นส่วนประกอบของสินค้าประเภทต่าง ๆ ของผู้ผลิตชั้นนำของโลก ทั้งยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า 

รวมถึงแนวโน้มการเพิ่มสัดส่วนการใช้เหล็กประเภทดังกล่าวในภาคการก่อสร้าง ที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้าจากเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นก ลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ของแต่ละหน่วยธุรกิจ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเหล็กไทยได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออกเหล็กไทยอีกด้วย

 

ทางรอด “อุตสาหกรรมเหล็กไทย” ความท้าทายภายใต้มาตรการ AD

 

ดังนั้น การใช้มาตรการ AD จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนของไทย และเพิ่มกำลังการผลิตในภาพรวมได้โดยหากมีเหล็กแผ่นรีดร้อนจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดอย่างต่อเนื่อง จนผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ก็จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทยมีโอกาสลดลงในระยะข้างหน้าและต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

ทั้งนี้ อาจพิจารณาใช้มาตรการอัตรา AD เฉพาะผู้ผลิตที่มีพฤติการณ์ทุ่มตลาดในปริมาณมากเป็นอันดับต้น ๆ ในระยะเวลาที่ทำให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยสามารถผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายในราคาที่สามารถแข่งขัน จนสามารถเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ในระดับที่ก่อให้เกิด Economies of scale 

โดยการใช้มาตรการ AD จะส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มโอกาสสำหรับความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กของไทยตามมา รวมถึงยังต้องให้ความสำคัญกับการติดตามการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD ด้วยการเจือสารประเภทอื่น ๆ ในสินค้าประเภทใกล้เคียงกันอีกด้วย