“กทม.” ไม่ถอย ชง ครม.ล้างหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 2.3 หมื่นล้าน

02 ธ.ค. 2566 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2566 | 10:10 น.
620

“กทม.” เดินหน้าชงมหาดไทย ดึงเงินสะสมจ่ายขาด เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 2.3 หมื่นล้านบาท หลังบีทีเอสซีแบกหนี้อ่วมกว่า 5 หมื่นล้านบาท เหตุรับจ้างเดินรถฟรีไม่ได้ค่าจ้าง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่กทม.จะขอชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท เพราะครบกำหนดชำระแก่เอกชนนั้น

 

ปัจจุบันกทม.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวถึงกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ว่าจะให้กทม.ดำเนินการอย่างไร เนื่องจากการชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ถูกรวมในกฎหมายมาตรา 44 ในการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวด้วย ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป หากครม.เห็นชอบให้กทม.ชำระหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องผ่านกฎหมายมาตรา 44 จะต้องนำเรื่องนี้เสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ

 

“ขั้นตอนดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ไม่นั้น เราจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการชำระหนี้ต่างๆต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.โดยใช้เงินสะสมจ่ายขาด ปัจจุบันกทม.มีเงินสะสมจ่ายขาด ประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่ผ่านมากฎหมายมาตรา 44 กำหนดให้ดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ แต่ต้องแลกกับการรับชำระมูลหนี้ของโครงการไปด้วย ซึ่งครม.ยังไม่ได้พิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ โดยมูลหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท ถูกรวมอยู่ในสัญญาดังกล่าว"

 

หากกทม.ดำเนินการชำระหนี้ไปแล้วในช่วงที่ครม.ต่อสัญญาสัมปทานก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นไปตามกฎหมาย ถึงแม้ว่าหนี้จะเพิ่มขึ้นเชื่อว่าจะต้องมีการเจรจาร่วมกับเอกชน ทุกอย่างต้องดำเนินการให้รอบคอบ

 

ขณะที่ความคืบหน้ากรณีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ฟ้องร้องศาลปกครองในคดีทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวนั้น ปัจจุบันกทม.ได้ดำเนินการขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งอยู่ระหว่างรอศาลฯนัดพิจารณาอีกครั้ง

“สาเหตุที่กทม.ไม่ยอมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าฯ หลังศาลปกครองมีคำพิพากษาให้สั่งจ่ายหนี้เดินรถฯนั้น เนื่องจากสัญญาของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวมีปัญหา เนื่องจากไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม. ทำให้ในปัจจุบันการชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) และหนี้ค่าจ้างเดินรถของโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ยังไม่ได้ผ่านความเห็นจากสภากทม.”

 

ถึงแม้ว่ากทม.มีการเตรียมจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 15 บาทตลอดสาย จะนำมาชำระหนี้ให้กับบีทีเอสได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้สามารถดำเนินการเพื่อมาชำระหนี้ได้ แต่ต้องรอดูอีกที เพราะรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบอยู่ที่ 1 ล้านคนเที่ยวต่อวัน ขณะที่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อยู่ที่ 400,000 คนเที่ยวต่อวัน

 

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลค้างชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวกับบริษัทนั้น ยอมรับว่ามีความหวังในการชำระหนี้ เพราะใครจะทำอย่างเราที่ลงทุนแล้วเดินรถได้ไม่ได้รับเงิน แต่เข้าใจว่ารัฐบาลนี้ เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เอกชนสามารถไปต่อได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องจบให้ได้โดยที่ไม่ให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเสียประโยชน์

 

“ส่วนกรณีที่กทม.มีแผนชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท โดยจะต้องนำเรื่องนี้กลับไปเจรจาเกี่ยวกับม.44 อีกครั้งนั้น เราในฐานะที่เป็นเอกชนผู้รับเหมาที่จ้างบริษัทเดินรถถึงเวลาก็ควรชำระ เราไม่ได้ห่วงหรือกังวลอะไรทั้งสิ้น เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ โดยตามปกติการรับเหมาติดตั้งระบบงานอาณัติสัญญาณ (E&M) เชื่อว่าทางกทม.มีสัญญานี้ที่ต้องชำระ แต่ต้องหาวิธีดำเนินการที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ว่ากทม.ก็เร่งหาวิธีที่เร็วที่สุดเพื่อเข้าสู่กระบวนการและระเบียบของกทม.”

 

 นายคีรี กล่าวต่อว่า กรณีที่กทม.จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 15 บาท เพื่อมาชำระหนี้ที่ค้างกับบริษัทนั้น โครงการเป็นของกทม. 100% ซึ่งกทม.จะจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเท่าไรเป็นสิทธิ์ของกทม.ในการตัดสินใจ เราเป็นผู้รับจ้างเดินรถก็ควรได้รับค่าจ้าง เพราะค่าจ้างมาพร้อมกับรถและระบบไฟฟ้า ที่มีต้นทุนของพนักงานทุกคนที่ให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างควรชำระ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า ส่วนการชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 23,000 ล้านบาท ของกทม.นั้น ปกติการชำระหนี้ให้แก่บริษัท ทางกทม.จะชำระหนี้ได้ต่อเมื่อต้องเสนอของบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอนุมัติก่อน 

 

“ขณะนี้เรายังไม่ฟ้องร้องให้กทม.ชำระหนี้เพิ่มเติม เพราะปัจจุบันกทม.แสดงเจตนารมณ์ว่าจะชำระหนี้ให้แก่บริษัทเพียงแต่มีขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการให้ครบถ้วน” 

 

ปัจจุบันภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ BTSC ขณะนี้มีตัวเลขยอดหนี้รวมกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ประมาณ 23,000 หมื่นล้านบาท และ หนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จ้าง BTSC เดินรถ ประมาณ 30,000 ล้านบาท 

“กทม.” ไม่ถอย ชง ครม.ล้างหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 2.3 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.ส่วนสัมปทาน ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช, ช่วงสนามกีฬา-สะพานตากสิน ซึ่งรายได้จากค่าโดยสารเป็นของเอกชนเอกชนตามสัญญาสัมปทาน

 

2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง, ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า รายได้จากค่าโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้จ้างเอกชนเดินรถต่อ มีการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย

 

3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มอบหมายงานให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารและจัดการการเดินรถ และกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างเอกชน โดยปัจจุบันยังไม่มีการเก็บค่าโดยสารในส่วนนี้

 

นอกจากนี้ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ได้มีการเปิดให้บริการประชาชนทดลองนั่งฟรีจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุฯ ทั้งนี้เมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์หรือจัดเก็บค่าโดยสารแล้วจะถูกเก็บค่าแรกเข้า 15 บาท และเมื่อผู้โดยสารต้องการเดินทางต่อไปยังรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 จะถูกเรียกเก็บค่าแรกเข้าเพิ่มอีก 15 บาทเพียงครั้งเดียว โดยตลอดสายจะถูกเรียกเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 62 บาท ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายจะถูกเก็บค่าแรกเข้าทั้งหมดเพียง 2 ครั้ง