คืบหน้า “รถไฟทางคู่สายใต้ นครปฐม – หัวหิน” เปิดให้บริการบางช่วง 15 ธ.ค.นี้

30 พ.ย. 2566 | 16:33 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 16:39 น.

“สุรพงษ์” ลงพื้นที่สแกนความพร้อม “รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน” นำร่องเปิดให้บริการช่วงราชบุรี-ชุมพร เริ่ม 15 ธ.ค.นี้ คาดเปิดให้บริการเดินรถตลอดสายภายในปี 67

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่สายสำคัญ ของเส้นทางรถไฟสายใต้ ปัจจุบันภาพรวมการดำเนินงานการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้ากว่า 97% คาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดสายได้ภายในปี 2567

คืบหน้า “รถไฟทางคู่สายใต้ นครปฐม – หัวหิน”  เปิดให้บริการบางช่วง 15 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้การรถไฟฯ เร่งรัดก่อสร้างโครงการ และสามารถเปิดใช้งานเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร ได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ส่วนช่วงที่สอง ระหว่างสถานีนครปฐม – บ้านคูบัว มีแผนที่จะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2567 
 

ขณะที่งานสะพานกลับรถ (U-Turn)และสะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) ได้มีการเปิดใช้งานและยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ จำนวน 24 แห่งจากทั้งหมด 30 แห่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

คืบหน้า “รถไฟทางคู่สายใต้ นครปฐม – หัวหิน”  เปิดให้บริการบางช่วง 15 ธ.ค.นี้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนได้ติดตามและมอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และเครื่องสูบน้ำบริเวณอุโมงค์ทางลอดใต้ทางรถไฟในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกบ ปากแรต นครชุมน์ และหลังวัดดอนตูม โดยขณะนี้การรถไฟฯ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว ในระหว่างที่รอการติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำถาวร ที่ถูกลักลอบขโมยไป โดยจะติดตั้งเครื่องปั๊มน้ำถาวรทั้งหมด 4 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2566 
 

ส่วนการตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานเรื่องการใช้สิทธิเหนือพื้นดินในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงพื้นที่จังหวัดราชบุรี และรถไฟสายธนบุรี - น้ำตก (กาญจนบุรี) ปัจจุบันได้มีหน่วยงานราชการในจังหวัดราชบุรี ขอใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ จัดทำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ อาทิ สวนหย่อม ถนนคูคลอง ทางระบายน้ำ ในย่านสถานีรถไฟ คลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 27 แห่ง จึงได้มอบให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จ

 

อย่างไรก็ตามหากการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายใต้แล้วเสร็จ ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และเป็นการพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศครั้งสำคัญ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอันใกล้