รถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร ดีเลย์ เซ่นพิษโควิด

07 พ.ค. 2565 | 12:26 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2565 | 19:42 น.
610

“กรมราง” เผยคืบหน้ารถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร 6 สัญญาดีเลย์หนัก เหตุโควิดพ่นพิษ-ขาดแคลนแรงงาน เร่งผู้รับเหมาตอกเสาเข็มแล้วเสร็จปี 65 ดึงใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติ เตรียมเปิดให้บริการปลายปีนี้

นายพิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันภาพรวมของผลการดำเนินโครงการฯ คืบหน้า 99.98% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการการเดินรถทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้บางช่วงโดยเฉพาะเส้นทางที่มีระบบอาณัติสัญญาณเท่านั้น โดยใช้ระบบการเดินรถแบบกึ่งอัตโนมัติ คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการคืนทางเดินรถให้แก่ประชาชน และจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2565

 

 

 


สำหรับความคืบหน้าโครงการฯทั้ง 6 สัญญา แบ่งเป็นงานโยธาและระบบราง 5 สัญญา วงเงินรวม 33,982 ล้านบาท และสัญญาจ้างงานระบบอาณัติสัญญาณฯ 1 สัญญา วงเงินรวม 6,210ล้านบาท ดังนี้ 1.ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กิโลเมตร วงเงิน 8,198 ล้านบาท ผลงานสะสม 96.084 % ล่าช้ากว่าแผน 1.20% มีบริษัทเอ.เอส.แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2559-31 มกราคม 2564 ขยายสัญญา 20 เดือน ไปสิ้นสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 2.ช่วงหนองปลาไหล -หัวหิน วงเงิน 7,520 ล้านบาท ระยะทาง 76 กิโลเมตร ผลงานสะสม 94.844% ล่าช้ากว่าแผน 0.166% มีบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 15 มิถุนายน 2561-14 มิถุนายน 2565 ขยายสัญญา 20 เดือน ไปสิ้นสุดภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 3.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 5,807ล้านบาท ระยะทาง 84 กิโลเมตร ผลงานสะสม 99.870 % ล่าช้ากว่าแผน 0.130% มีบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2561-31 กรกฎาคม 2563 ขยายสัญญา 15 เดือน ไปสิ้นสุดภายในเดือนตุลาคม 2564 คาดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 

4.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-บางสะพานน้อย วงเงิน 6,465 ล้านบาท ระยะทาง 88 กิโลเมตร ผลงานสะสม 85.077% ล่าช้ากว่าแผน 14.923% มีกิจการร่วมค้าเคเอส-ซี เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2561-31 ตุลาคม 2563 ขยายสัญญา 15 เดือน ไปสิ้นสุดภายในเดือนมกราคม 2565 คาดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 5.ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร วงเงิน 5,992 ล้านบาท ระยะทาง 79 กิโลเมตร ผลงานสะสม 87.295% ล่าช้ากว่าแผน 12.569% มีกิจการร่วมค้าเอสทีทีพี เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2561-31 มกราคม 2564 ขยายสัญญา 15 เดือน ไปสิ้นสุดภายในเดือนเมษายน 2565 คาดแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และ 6.สัญญาจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ วงเงิน 6,210 ล้านบาท ผลงานสะสม 27.655% ล่าช้ากว่าแผน -45.578% มีกิจการร่วมค้า The Consortium CRSC Resarch and Design Institute Group Co.,Ltd. And CRSC International Company Limited. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 27 มกราคม 2563-26 มกราคม 2566

 

 

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่บางสัญญาของโครงการฯสิ้นสุดแล้ว แต่ไม่ได้มีการขยายสัญญาออกไป เนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ละสัญญาอยู่ในเกณฑ์และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิการขยายสัญญาเสริมในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยงดชำระค่าปรับเป็นศูนย์ ตามประกาศของภาครัฐที่มีการกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งระยะเวลานับตั้งแต่ภาครัฐออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและจะสิ้นสุดเมื่อภาครัฐยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปัจจุบันแต่ละสัญญาเหลือเพียงเก็บรายละเอียดงานบางส่วนเท่านั้นก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการต่อไป

 

รถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร ดีเลย์ เซ่นพิษโควิด

 “สาเหตุที่สัญญาการก่อสร้างมีความล่าช้า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาโครงการฯได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานจากการติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร และการจัดส่งวัสดุของผู้จัดหาวัสดุ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ขณะเดียวกันโครงการฯยังได้รับผลกระทบจากการนำทางหลีกรถไฟออกจากแนวเส้นทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันการเดินทางรถไฟสายใต้มีความล่าช้ากว่าตารางการเดินรถ เบื้องต้นได้มีการวางแผนจัดสรรแรงงาน เครื่องจักรที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้การดำเนินงานของโครงการฯ เกิดความล่าช้า โดยเร่งรัดให้การก่อสร้างเสร็จตามแผนในปี 2565”

นอกจากนี้โครงการฯได้มีการก่อสร้าง สถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ พื้นที่ 500 เมตร วงเงิน 347 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นหนึ่งในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม – ชุมพร ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน โดยสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่นี้ เป็นโครงสร้างยกระดับ มีที่ทำการและที่พักคอยอยู่ชั้นล่าง ชานซาลาอยู่ชั้นบน การออกแบบยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเดิมที่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ถัดจากสถานีหัวหินเดิไปทางทิศใต้ ปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้าง80% งานตกแต่งสถาปัตยกรรม 30% และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องของสถานี 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2565

รถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร ดีเลย์ เซ่นพิษโควิด

 

 

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ ทำให้การเดินรถไฟใช้ระยะเวลาที่สั้นลง จากต้นทางกรุงเทพฯ มายังสถานีหัวหินเร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยไม่ต้องรอทางหลีกรถไฟ ซึ่งรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว นอกจากนี้มีการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟและทางถนน ช่วยเพิ่มความเร็ว และความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น มีความตรงต่อเวลาการเดินขบวนรถไฟมากยิ่งขึ้น และจะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถแก้ไขปัญหาจราจรและการลดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมต่อระบบการขนส่งเส้นทางท่องเที่ยวตลอดเส้นทางสายใต้ ไม่ว่าจะเป็นรถเช่า เรือท่องเที่ยว หรือธุรกิจอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เป็นอย่างดี