รถไฟทางคู่สายเหนือ ”เด่นชัย-เชียงของ”ดันราคาที่ดินพุ่งเปิดทำเลทองใหม่

10 เม.ย. 2565 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2565 | 14:49 น.
12.0 k

รถไฟทางคู่สายเหนือ ”เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”ดันราคาที่ดินพุ่ง เปิดทำเลทองพัฒนาเชิงพาณิชย์ใหม่ ดีเดย์กลางปีนี้ส่งมอบพื้นที่แปลงแรก นักธุรกิจท้องถิ่นตีปีก

 

 

การดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่สายเหนือ ช่วงเด่นชัย เชียงราย เชียงของ หรือคนในพื้นที่เรียกชื่อติดปากว่า รถไฟทางคู่ล้านนาตะวันออก ที่ เริ่มต้นโครงการ จาก อ.เด่นชัย จังหวัดแพร่ ผ่านอาเภองาว(จ.ลำปาง) จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย และไปสิ้นสุดโครงการที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 

 

รวมระยะทางทั้งสิ้น 323 กม.วงเงินการก่อสร้างประมาณ 72,900 ล้านบาท งบเวนคืน 10,600 ล้านบาทนั้น  จนมาถึงขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายบุญชู กมุทมาโนชญ์ ประธานสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือ และประธานชมรมคนรักรถไฟล้านนาตะวันออก ฉายภาพความเคลื่อนไหวล่าสุดผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” อย่างน่าสนใจ

 

 

งานรังวัดคืบคาดได้ที่แปลงแรกมิ.ย.นี้

 

ขณะนี้ รฟท.ได้ลงนามค่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว และผู้รับจ้างได้ลงพื้นที่ตั้งแคมป์งาน ในแต่ละพื้นที่ทำงานขนานกับบริษัทที่ปรึกษาการเวนคืน อยู่ในขั้นตอน เชิญคณะกรรมการ กำหนดราคาเบื้องต้น พิจารณาโดยหลักการแล้ว จะมีการประชุมทั้งสิ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง

 

หากมีการเสนอโต้แย้ง ในข้อมูลเชิงลึกของการเวนคืน ก็จะมีการประชุมเพิ่มควบคู่ไปกับการรังวัดที่ดินที่ถูกการเวนคืนโดยการ รฟท. ร่วมมือกับกรมที่ดิน คาดว่าจะได้ที่ดินแปลงแรกในเดือน มิถุนายน 2565 

 ส่วนความล่าช้าที่จะเกิดขึ้น ยังคงให้น้ำหนักกับการขับเคลื่อนในระบบราชการ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ การเชื่อมโยงของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการเวนคืนต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ เช่นการเร่งมอบที่ดินให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างตามห้วงเวลาในแผน 

 

 

ขณะที่งบประมาณที่ส่งต่อในระบบไม่ต่อเนื่อง ด้วยโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณเกือบแสนล้าน บาทหากเศรษฐกิจโดยภาพรวมยังเป็นในระนาบขาลง เกรงว่ารัฐอาจจะจัดสรรเงินให้ไม่เป็นไปตามกรอบการก่อสร้างและอื่น ๆ 

 

 

คนพื้นที่ห่วงเวนคืนไม่เป็นธรรม

 

 

นายบุญชู ยังกล่าวอีกว่าการเวนคืนที่ดินและส่งปลูกสร้าง ปัญหาที่จะรุกลาม การต่อต้านคนในพื้นที่ หากรัฐไม่มีนโยบายธรรมาภิบาล ด้วยเพราะรฟท.ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองจะต้องเวนคืนใหม่ทั้งหมด  8,000 กว่าแปลงกระทบประชาชนในท้องถิ่น หาก รฟท.มีนโยบาย การเวนคืน ที่มีความเป็นธรรมกับผู้เสียสละ ความตรึงเครียดจะไม่เกิดขึ้น

 

 

หาก รฟท. ใช้หลักรัฐศาสตร์นำหลักนิติศาสตร์ ประชาชนในพื้นที่เปลี่ยนจากสนับสนุนมาเป็นการต่อต้าน มีการร้องเรียน ในระบบต่าง ๆ ของทางราชการ เช่น ศูนย์ดารงธรรมหรือ อื่น ๆ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้าได้ จากที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2571 อาจจะเลื่อนไปอีก การเวนคืนของ รฟท. เป็นฟางเส้นสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง

 

ส่วนการเคลื่อนไหวของทางราชการให้การสอดรับโครงการดังกล่าวเจ้าภาพหลัก การรถไฟแห่งประเทศไทย  ลงนามสัญญาว่าจ้างการก่อสร้างครบตลอดโครงการ   ระดับจังหวัด ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ติดตามการก่อสร้างและได้มีแนว ทางงานสถาปัตย์ให้ ตรงกับอัตลักษณ์ประเพณีของท้องถิ่น

 

เพื่อเพิ่มมูลค่า   ด้านการท่องเที่ยวเมื่อโครงการนี้สร้างเสร็จแล้วขณะที่สถานศึกษาระดับเตรียมอุดม ได้มีการขอข้อมูลในด้านวิศวกรรมทางรางกับ การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเสนอเป็นหลักสูตรการเรียน รองรับตำแหน่ง งานของการรถไฟแห่งประเทศไทย  

 

ส่วนทางราชการที่มีหน้าที่ พัฒนาฝีมือแรงงาน ในพื้นที่ได้การประสานงานขอองค์ความรู้จาก การรถไฟแห่งประเทศ เพื่ออัพสกิล แรงงาน ด้านโลจิสติกส์ทางรางแล้ว 

 

 สำหรับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน  จะเห็นว่าโครงการนี้เริ่มตั้งแต่มี พ.ศ.2503 เริ่มเป็นความจริงที่จับต้องได้ในปี 2565 ยาวนานถึง 62 ปี แห่งการรอคอย โดยภาพรวมแล้วประชาชนในพื้น ให้การต้อนรับ โดยเฉพาะกระแสรถไฟความเร็วสูงของจีนได้เปิดดำเนินการ ขนคน ขนสินค้าประชาชนในพื้นที่

 

จึงมีความหวังในการพื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ การขนส่งสินค้าที่ถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนทางถนนเนื่องด้วยเส้นทาง การเดินรถผ่านธรรมชาติที่สวยงามมีอุโมงค์ ขนาดใหญ่ 4 อุโมงค์เมื่อออกจากอุโมงค์ จะมีสะพานสูงมารับ  ทำให้เป็นการเดินทางเชิงการท่องเที่ยว ประชาชนคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวในปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว 

 

ในพื้นที่ได้รับประโยชน์รอบด้าน

 

นายบุญชู กล่าวอีกว่าโครงการสร้างรถไฟทางคู่ สายนี้ เป็นการก่อสร้างใหม่ทั้งหมด(การเวนคืนที่ดิน/การก่อสร้าง) จึงเป็นอภิมหาโปรเจ็ก ของชาวล้านนาตะวันออก สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสังคมคนในพื้นที่มีดังนี้  โครงการไทยแลนด์เฟริส ที่เป็นTOR ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

มอบนโยบายให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง จะต้องใช้วัสดุภัณฑ์ท้องถิ่น 60% และการว่าจ้างแรงงานในพื้นที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านวัสดุก่อสร้างได้รับ อนิสงค์โดยตรงรวมทั้งแรงงานด้วย  

 

โดยการก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในปี 2571 งบประมาณในการก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน มากกว่า 8 หมื่นล้าน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อเงินของรัฐลงในท้องจะก่อเกิดเงินหมุนเวียนทั้งทางตรง ทางอ้อม 3.5 เท่า  หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท 

 

ขณะที่ บริษัทที่ประกอบการด้านการขนส่งเตรียมการซื้อที่ดินรองรับการประกอบการ อันเนื่องมาจากว่า การขนส่งทางราง มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งถูกว่าทางรถยนต์อย่างมาก

 

สอดรับการขยายตัวของการค้าออนไลน์ ส่งสินค้าต่างๆ จึงเตรียมการรองรับใช้ระบบรางในการส่งสินค้าทั้งรับและส่งสินค้าไปสู่ภูมิภาคอื่นๆของประเทศ รวมถึงการรองรับการเป็นสถานที่ฮับสินค้าอีกด้วย 

 

ที่ดินยังขยับก้าวกระโดด

 

 

ประธานสมาพันธ์ SME ไทยภาคเหนือตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้ว่ากระแสเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศจะอยู่ในช่วงขาลงโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ปรากฏว่าในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ

 

ทั้งสถานีหลัก สถานีรอง และป้ายจอดรถไฟ มีกระแสความต้องการของนักลงทุนเพิ่มขึ้นจึงทำให้ราคาที่ดินที่กล่าวมาข้างต้น ขยับไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะสถานีที่เชียงราย ราคาขยับไปถึงไร่ละ 8 ล้านบาท 

 

“ตามผลจากการเวนคืน เนื่องจากโครงการนี้ ไม่มีที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยแม้แต่หนึ่งตารางนิ้วเดียว จึงต้องเวนคืนจากประชาชน ประชาชน 8,000 กว่าครัวเรือนต้องย้ายถิ่นฐานและต้องสร้างบ้านใหม่ ธุรกิจใหม่ จึงเกิดความต้องการที่ดินอยู่อาศัยจึงส่งผลให้ราคาที่ดิน ขยับตัวราว 20-30% ”

 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพื้นที่ล้านนาตะวันออก ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร 70%  จึงมีวัตถุดิบสารตั้งต้นผลิตสินค้าด้านอาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิ ผลไม้ตามฤดูกาล ลำไย ลิ้นจี่  มะม่วง แคนตาลูป อื่น ๆ จึงเป็นอีกช่องทางที่ให้ผู้ประกอบการ SME ทั้งขนาดย่อย ขนาดกลาง ได้ซื้อที่ดินรองรับการก่อสร้างโรงงานในอนาคต เชื่อมโยงกับการส่งสินค้าผ่านระบบราง และส่งสินค้าไปต่างประเทศ 

 

นอกจากนี้จะพบว่า เส้นทางสายใหม่รถไฟทางคู่สายเหนือ จากระบบรางสู่การท่องเที่ยว การเดินทางด้วยระบบราง ราคาถูก  ปลอดภัย เมื่อเทียบกับการเดินทางแบบอื่น ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กลุ่มบริษัทท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องแสวงหาช่องทางการดำเนินธุรกิจ เช่น การซื้อที่ดิน อาคารอื่น ไว้เป็นการรองรับดังกล่าว 

รถไฟทางคู่สายเหนือ ”เด่นชัย-เชียงของ”ดันราคาที่ดินพุ่งเปิดทำเลทองใหม่

 

น่าจับตาห้องเย็นธุรกิจใหม่ในพื้นที่

 

 

ด้านธุรกิจห้องเย็นและการ์เมนท์ ตู้คอนเทรนเนอร์เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะได้รับอานิสงค์นี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ล้านนาตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งของครัวของโลก การขนส่งผัก-ผลไม้ มีความจำเป็นต้องใช้ห้องเย็น เพื่อถนอมสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ดังนั้นธุรกิจห้องเย็น จึงเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเติบโต 

 

 

"รฟท. มีนโยบายที่จะสร้างศูนย์กระจายสินค้าที่มาจากพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อจัดส่งไปยังลูกค้าในขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนก็ไม่แตกต่าง ย่อมใช้ฮับสินค้านี้ ให้สอดคล้องกับธุรกิจตัวเอง" 

 

อีกทั้งยังเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้สถานศึกษาในระดับ อุดมศึกษาและวิทยาลัยเทคนิค เปิดการเรียนการสอน ด้านนี้โดยตรง หลักสูตรนี้อาจจะเปิดให้เอกชนมาเปิด การเรียนการสินของการเตรียมการรองรับ การเปิดเส้นทางของ รฟท.สายนี้อีกด้วย