อัพเดตล่าสุด ประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน คืบหน้าถึงไหนแล้ว

17 ธ.ค. 2564 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2565 | 20:42 น.
2.8 k

บอร์ดรฟท.เคาะสั่งจ้างผู้ชนะประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน 1.28 แสนล้าน จ่อลงนามภายในเดือนม.ค.65 เผยผลสอบโปร่งใส หลังค่าก่อสร้างพุ่งสูง ยันไม่ได้ล็อคสเปคเอื้อนายทุน

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมติอนุมัติสั่งจ้างผู้ชนะการประกวดราคา(ประมูล)โครงการรถไฟทางคู่ สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท 3 สัญญา และโครงการรถไฟทางคู่สาย อีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.54 หมื่นล้านบาท 2 สัญญา คาดว่าจะลงนามกับเอกชนทั้ง 2 โครงการได้ภายในเดือน ม.ค.65 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน หลังจากรอคอยการดำเนินโครงการนี้มานาน 

 

 

 

 ขณะเดียวกันโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ได้ดำเนินการประมูลแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ รฟท. ยังไม่สามารถประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าการประมูลทั้ง 2 โครงการไม่โปร่งใส ล็อกสเป็ก และฮั้วประมูล โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอราคาต่ำสุดห่างจากราคากลางไม่มาก รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดการประมูลที่เอื้อกับผู้รับเหมาบางกลุ่ม ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือ และสายอีสาน จำนวน 7 คน เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว 

ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบฯ ประชุมทั้งสิ้น 13 ครั้ง โดยเชิญผู้ร้องเรียน และผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง จนได้ข้อสรุปว่า กระบวนการกำหนดราคากลาง และการเปิดเผยราคากลาง ทั้ง 2 โครงการ เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีการดำเนินการใดๆ ที่กีดกันไม่ให้ผู้เสนอราคารายใดมีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้หากต้องประมูลใหม่ตามที่ผู้ร้องเรียนได้เสนอ รฟท. ต้องปรับราคากลางสูงขึ้นตามราคาวัสดุเหล็กก่อสร้าง ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพิ่มขึ้นสำหรับทางรถไฟสายเหนือประมาณ 4,200 ล้านบาท และสายอีสานประมาณ 2,900 ล้านบาท  

 

 

 

 ทั้งนี้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้นำเสนอรายงานผลการตรวจสอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พ.ย.64 และล่าสุดได้ลงนามสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการ พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะต่างๆ ของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย อาทิ การทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ทันทีหากเกิดความเข้าใจผิด และควรกำหนด พร้อมเปิดเผยมาตรการ และวิธีการป้องกันการสมยอมในการเสนอราคาต่อสาธารณะ และควรแก้ไขกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวกับการเสนอราคาในรูปแบบของกิจการร่วมค้าให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการสมยอมกันในการเสนอราคา  

สำหรับผลการประมูล สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ เสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท จากราคากลาง 26,599 ล้านบาท, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 2 เสนอราคาต่ำสุดที่ 26,900 ล้านบาท จากราคากลาง 26,913 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี 3 เสนอราคาต่ำสุดที่ 19,390 ล้านบาท จากราคากลาง 19,406 ล้านบาท 

 

 

 

 อย่างไรก็ตามในส่วนของสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. กิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เสนอราคาต่ำสุด 27,100 ล้านบาท จากราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. กิจการร่วมค้า ยูนิค เสนอราคาต่ำสุดที่ 28,310 ล้านบาท จากราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท ทั้งนี้ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี และเปิดให้บริการปี 71 ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการปี 69.