“ภูมิธรรม” เตรียมเสนอ ครม.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข คืนความเป็นธรรมชาวประมง

30 พ.ย. 2566 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 16:09 น.

“ภูมิธรรม“ เผย ร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขปรับปรุงตามที่สัญญาไว้กับชาวประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมยื่นเข้า ครม. พิจารณา เชื่อคืนความเป็นธรรมให้ชาวประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หลังการออกกฎหมายแก้ไขปัญหาประมง IUU ส่งผลกระทบนับหมื่นราย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ (30 พ.ย. 2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประม ร่วมด้วยนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าการจัดเตรียมร่างพระราชบัญญัติการประมงของรัฐบาล

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมง และอุตสาหกรรมประมงไทยตามที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะนำร่างกฎหมายที่เคยจัดทำไว้ร่วมกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ระหว่างพรรคเพื่อไทยและสมาคมประมงต่าง ๆ กลับมาพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ให้เสร็จสิ้นภายใน 99 วันแรกของการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาล

“ภูมิธรรม” เตรียมเสนอ ครม.ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไข คืนความเป็นธรรมชาวประมง

“บัดนี้ร่างกฎหมายได้ดำเนินการจัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงชุดนี้ เพื่อมีมติให้ส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบต่อไป เชื่อว่าจะได้เข้าสภาต้นปีหน้า ซึ่งการแก้กฎหมายประมงครั้งนี้ จะเป็นการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาประมงที่บังคับใช้ขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม การพิจารณากฎหมายในสภาจะดำเนินการควบคู่กับการเจรจากับต่างชาติให้ยอมรับในแนวทางของไทย เชื่อว่าหากทั้ง 2 ส่วนบรรลุตามเป้าหมาย จะสามารถคืนความเป็นธรรมให้ชาวประมง และฟื้นคืนชีวิตให้อุตสาหกรรมประมงได้สำเร็จ” นายภูมิธรรม กล่าว

 

ขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาระสำคัญในการแก้ไขพ.ร.บ.ครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา IUU Fishing พ.ศ. 2558 ซึ่งมีปัญหาในการบังคับใช้ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการตราพระราชกำหนดขึ้นบังคับใช้อย่างเร่งด่วน และไม่ได้รับการศึกษาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ส่งผลให้มีผู้ประกอบการประมงถูกดำเนินคดีนับหมื่นราย และมีเรือประมงกว่า 3,000 ลำ ถูกบังคับให้ต้องจอดเรือ ทำให้ผู้ประกอบกิจการประมง รวมไปถึงลูกจ้างไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะที่มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานน้ำแข็ง ห้องเย็น สถานีน้ำมัน สะพานปลา ตลาดปลา แพปลา และท่าเทียบเรือนับหมื่นราย นำมาสู่การประสานการทำงานเพื่อศึกษาและนำร่างกฎหมายที่พรรคเพื่อไทยและสมาคมประมงได้จัดทำร่วมกันตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้วมาดำเนินการเพื่อผลักดันสู่การประกาศใช้เพื่อบรรเทาปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้การดำเนินการของคณะกรรมการเองในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับปรุง และยกเลิก กฎหมายลูกหลายฉบับที่สามารถทำได้ก่อนไปแล้วด้วย