เกียรติ อัด เศรษฐา อ้างวิกฤติเศรษฐกิจกู้เงินแจก กระทบความน่าเชื่อถือประเทศ

20 พ.ย. 2566 | 17:34 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2566 | 17:43 น.

“เกียรติ สิทธีอมร อัด “เศรษฐา” อ้างประเทศไทยมีวิกฤติเศรษฐกิจ กู้เงินถึงกว่า 500,000 ล้าน แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระวังประวัติศาสตร์ซ้ำรอย กระทบความน่าเชื่อถือประเทศ

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย โพสต์เฟซบุ๊ค"เกียรติ สิทธีอมร - Kiat Sittheeamorn" ตั้งคำถามเกี่ยวกับกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าประเทศไทยมีวิกฤติเศรษฐกิจ จึงต้องออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท มีแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทระบุว่า


ประเทศไทยมีวิกฤติเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลพูดจริงหรือ ???
ปกติแล้วจะถือว่าประเทศใดประเทศหนึ่งมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้


1) อัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินเปลี่ยนแปลงผันผวนอย่างรุนแรง
2) เศรษฐกิจถดถอยจนติดลบอย่างรวดเร็วไม่คาดคิด
3) เงินเฟ้อพุ่ง ข้าวของแพงจนควบคุมไม่ได้
4) บริษัทและผู้ประกอบการจำนวนมาก ต่างปลดคนงาน พร้อมๆกัน ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
5) ประชาชนแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร


ถ้าเป็นเช่นนั้น ถือได้ว่าประเทศมีวิกฤติเศรษฐกิจแน่นอนครับ

แต่เมื่อนายกฯบอกคนในประเทศว่าเรามีวิกฤติจนต้องกู้เงินถึงกว่า 500,000 ล้านบาท มาแจก ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในขณะที่ไปเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยส่งสัญญาณว่า เราพร้อม การลงทุนเราเติบโตสูงกว่าร้อยละ 30 แน่นอนที่สุดคนฟัง ทั้งนักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ ต้องรู้สึกสับสนเพราะสิ่งที่พูดในนามรัฐบาลมันย้อนแย้งกันอย่างมาก..!!!!

 

การประกาศว่าเราจำเป็นออก พ.ร.บ.เงินกู้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่งบประมาณประจำปีปกติ ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ก็ต้องยอมรับว่าผิดปกติอย่างมาก..

 

คนไม่น้อยต่างสงสัยและสรุปกันเอาเองว่า ที่นายกพูดว่าเรามีวิกฤติ ก็เพราะ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะออก พ.ร.บ. งบประมาณ เป็นกรณีพิเศษได้ ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤติ ไม่สามารถทําเป็นงบประมาณปกติได้ ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่มีวิกฤติเศรษฐกิจโดยปริยาย..!!!! 
 

แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่า ในกรณีเช่นนี้ รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า งบประมาณที่จะเอาไปใช้ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ตามมาตรา 57  พรบ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 หากทำไม่ดี ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยได้นะ ครับ..!!!!

 

ทำกันอย่างนี้ กระทบความน่าเชื่อถือของประเทศได้นะครับ..!!!!!!