เศรษฐา เบรกขึ้นน้ำตาล 4 บาท สูญหมื่นล้าน โรงงาน-ชาวไร่ป่วน

01 พ.ย. 2566 | 16:06 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2566 | 16:20 น.
2.5 k

ครม.เศรษฐา เบรกขึ้นราคาน้ำตาลทราย 4 บาท/กก. กำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม โรงงานและชาวไร่อ้อย โอดครวญผลประโยชน์หายหมื่นล้าน รัฐบาลเมินช่วยเหลือต้นทุนพุ่ง จี้ภาครัฐเร่งหาทางออกหวั่นขัด WTO ด้านพ่อค้า-แม่ค้า จ่อปรับราคาสินค้า

สถานการณ์ราคานํ้าตาลทราย กำลังจะกลายเป็นประเด็นร้อนของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มติเห็นชอบให้เพิ่ม “นํ้าตาลทราย” อีก 1 รายการ เป็นสินค้าควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อดูและราคานํ้าตาลทรายไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยให้มีผลบังคับทันที

ถือเป็นการเบรคประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ออกมากำหนดราคานํ้าตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายนํ้าตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 จากราคานํ้าตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม(กก.)ละ 19 บาท เป็นราคากก.ละ 23 บาท และนํ้าตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกก.ละ 20 เป็นกก.ละ 24 บาทนั้น

3 สมาคมฯเร่งหาทางออก

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานนํ้าตาลทราย (TSMC) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังจากทราบมติครม.เห็ยชอบให้นํ้าตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ทางสมาคมฯได้มีการหารือร่วมกันเพื่อที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป โดยจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรร และสอน.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากระบบอ้อยและนํ้าตาลได้รับผลกระทบโดยตรง จากการแบ่งปันผลประโยชน์ใหชาวไร่อ้อย 70% และโรงงานนํ้าตาล 30% เพราะการไม่ปรับราคานํ้าตาลขึ้นไป เท่ากับชาวไร่อ้อยเสียผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาส่งออกนํ้าตาลทราย 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ปัจจัยหรือต้นทุนการผลิตอ้อยสูงขึ้น

“ชาวไร่อ้อย มีความกังวลว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือต้นทุนการผลิตอย่างไร ประกอบกับภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง และเมื่อมาควบคุมราคานํ้าตาลทรายอีก เท่ากับเป็นการซํ้าเติมชาวไร่อ้อย ซึ่งปีที่ผ่านมาราคานํ้าตาลในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานสูญรายได้ส่วนต่างนับหมื่นล้านบาท”

เศรษฐา เบรกขึ้นน้ำตาล 4 บาท สูญหมื่นล้าน โรงงาน-ชาวไร่ป่วน

ห่วงขัดองค์การการค้าโลก

แหล่งข่าวจากโรงงานนํ้าตาล กล่าวว่า ในการปรับขึ้นราคานํ้าตาลทราย เป็นข้อเรียกร้องจากบรรดาชาวไร่อ้อย เพราะต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยสูงขึ้น เมื่อราคานํ้าตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมา ชาวไร่อ้อยควรจะได้ผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาส่งออก มาคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายนํ้าตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567

ปัจจุบันการบริโภคนํ้าตาลทรายในประเทศมีประมาณ 25-30% ส่วนใหญ่ส่งออก 70-75 % ซึ่งราคานํ้าตาลทรายขาวบริสุทธิ์ส่งมอบเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ประมาณ 26-27 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลกลับมาควบคุมราคานํ้าตาลทรายครั้งนี้ เกรงว่าจะขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลกหรือ WTO ที่ประเทศไทยอยู่ในระหว่างถูกบราซิลฟ้องในเรื่องการกำหนดราคาจำหน่ายนํ้าตาลทรายในประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้านี้จึงได้มีนโยบายปล่อยลอยตัวนํ้าตาล เพื่อไม่ให้ถูกบราซิลฟ้อง หากรัฐบาลชุดนี้กลับมาควบคุมราคานํ้าตาลทรายอีก คาดว่าทางบราซิลจะเดินหน้าฟ้องอย่างเข้มข้น

ส่อส่งออกทะลัก-เกิดขาดแคลน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ดังนั้น การควบคุมราคานํ้าตาล ต้องมองว่าใครได้ผลประโยชน์ ระหว่างผู้ประกอบการที่ใช้นํ้าตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต ในขณะที่ประชาชนทั่วไป บริโภคนํ้าตาลทรายต่อเดือนไม่ถึง 1 กิโลกรัม การปรับราคาขึ้นไป 4 บาทต่อกิโลกรัม จึงแทบไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะบรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มต่างได้อานิสงส์จากการควบคุมราคา

อีกทั้ง การควบคุมราคานํ้าตาลภายในประเทศ มีแนวโน้มว่าโรงงานนํ้าตาลจะหันไปส่งออกนํ้าตาลมากขึ้น เพราะไม่ได้มีการควบคุมโควต้าการส่งออก เพียงแต่แจ้งปริมาณการส่งออกเท่านั้น อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนนํ้าตาลภายในประเทศ หรืออีกกรณีหนึ่ง นํ้าตาลทรายบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม อาจจะไม่มีอยู่ในตลาด เพราะผู้ผลิตจะหันไปบรรจุถุงละ 50 กิโลกรัมแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคได้

นายนราธิป อนันต์สุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ดังกล่าวว่า กำลังหารือกันในสมาคม และจะเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงสาเหตุของการไม่ให้ปรับขึ้นราคาและดึงราคานํ้าตาลทรายมาเป็นสินค้าควบคุม หลังจากที่ได้ลอยตัวราคานํ้าตาลตามข้อตกลงการค้าเสรี

“ถือเป็นการแทรกแซงกลไกการตลาดกระทบชาวไร่อ้อย หากยังยืนยันที่จะไม่ให้ขึ้นราคานํ้าตาล กลุ่มชาวไร่อ้อยพร้อมเดินหน้าปิดโรงงานนํ้าตาล ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายนํ้าตาลออกจากโรงงาน”

 

 

เศรษฐา เบรกขึ้นน้ำตาล 4 บาท สูญหมื่นล้าน โรงงาน-ชาวไร่ป่วน

ใช้งบกลางช่วยเหลือชาวไร่

พร้อมกับแจ้งว่า จากการหารือกับนายกฯ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้นํ้าตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำเรื่องเสนอของบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กก.ละ 2 บาท ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมครม.พิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่จะนำงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนมาช่วยเหลือเกษตรกรช่าวไร่อ้อย

ขณะที่ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานในที่ประชุมครม.ว่า การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้น ที่ผ่านมาได้มีมาตรการดูแลมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีวงเงินอยู่ 8,000 ล้านบาท โดยนายกฯ กำชับว่า ให้รีบนำเสนอเรื่องนี้เข้ามาในที่ประชุมภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรชาวไร่อ้อยได้ ซึ่งการเห็นชอบให้นํ้าตาลเป็นสินค้าควบคุม ไม่ได้เป็นการหักหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องช่วยกันดูแลราคาสินค้าให้กับประชาชน แต่ก็ต้องไปหามาตรการที่จะมาช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย เพราะ เห็นใจชาวไร่อ้อยที่ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น

 

ชี้บราซิลเข้าใจไม่ฟ้องWTO

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายก รัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องปัญหานํ้าตาลที่มีคดีฟ้องร้องกับบราซิล ซึ่งตอนนั้นราคาตลาดโลกค่อนข้างตํ่า ขณะที่ไทยขึ้นราคาภายในประเทศ จึงทำให้บราซิลรู้สึกว่า เราไปทำให้ตลาดการแข่งขันของเขาเกิดความเสียเปรียบ แต่หลังการฟ้องร้องก็ได้มีการเคลียร์กัน หลายเรื่องจนเกือบจะจบแล้ว แต่คราวนี้ราคาตลาดโลกสูงมาก แม้เราจะขยับราคาในประเทศอย่างไร ก็ไม่มีผล ไปแข่งขันอะไรกับเขา ดังนั้นเรื่องผลกระทบกับบราซิล จึงเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

ทั้งนี้ การจะนำเงินที่เพิ่มขึ้น 4 บาทนั้น ส่วนแรกจะนำรายได้ดังกล่าวส่งผ่านกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย (กท.) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 2 บาทและอีก 2 บาทนำไปชดเชยเกษตรกร นั้นได้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหาแนวทางจะทำอย่างไรหรือจะแบกรับกันอย่างไร แบ่งปันทุกอย่างอย่างไรไม่ใช่อยู่ๆ เอาทุกอย่างไปโยนให้กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคทั้งหมด

 

โอด! ต้นทุนพุ่ง จ่อขึ้นราคา

นางภัชรมนทร์ ทองแสน เจ้าของร้านนํ้าปั่น “คอฟฟี่ก๊ง” เปิดให้บริการมากว่า 10 ปี ย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) กล่าวว่า ร้านใช้นํ้าตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก ประมาณ 40 กิโลกรัมต่อเดือน เพราะมีเมนูหลากหลาย ทั้งนํ้าและขนม คิดว่าถ้าราคานํ้าตาลเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ราคาวัตุดิบอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของนํ้าตาลเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยต้นทุนต่อแก้วจาก 15 บาท อาจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 บาท

“ตอนนี้ยังคงไม่ขึ้นราคา หากวัตถุดิบอื่นๆ เพิ่มราคามากขึ้นไปอีก อาจจะจำเป็นที่ต้องมีการขึ้นราคาในบางเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ประมาณ 5 บาท และปรับปริมาณให้เหมาะสมกับราคา”

นางอารียา บุญปัญญา ร้านพี่แจน หวานเย็น ร้านขนมไทย ตลาดศรีวารี กล่าวว่า ร้านใช้นํ้าตาลทรายประมาณ 20 กก.ต่อเดือน คิดเป็น 40% ของวัตถุดิบ (รวมไปถึงนํ้าตาลมะพร้าว) จากเดิมราคา 25 บาทต่อกก. ปัจจุบันเพิ่มเป็น 28 - 30 บาทต่อกก. ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น กำไรน้อยลง แต่หากราคานํ้าตาลเพิ่มขึ้นไปเกิน 30 บาท อาจจะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นประมาณถ้วยละ 5 บาท

แต่จะเพิ่มปริมาณสินค้าให้เหมาะสมกับราคาเพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาประจำ หากมีการเพิ่มราคาสินค้าก็อาจจะได้รับผลกระทบมีลูกค้าน้อยลง แต่คิดว่าอาจจะมีลูกค้าบางส่วนที่เข้าใจ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเข้าควบคุมราคานํ้าตาล เพราะเป็นปัจจัยหลักในการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้า

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,936 วันที่ 2-4 พ.ย. 2566