"สุรพงษ์" สั่งการบ้าน รฟฟท.ดันฟีดเดอร์ 3 เส้นทาง เชื่อม "รถไฟสายสีแดง"

25 ต.ค. 2566 | 15:03 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 15:19 น.

"สุรพงษ์" ลงพื้นที่มอบนโยบายรฟฟท. เร่งเดินหน้าพัฒนาระบบฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟสายสีแดง เตรียมนำร่อง 3 เส้นทาง เตรียมเปิดให้บริการสิ้นปีนี้ รับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มอบนโยบายการดำเนินงานแก่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ปัจจุบัน รฟฟท. ได้รายงายงานผลการดำเนินงานนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของระบบรถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และ ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พบว่าผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

\"สุรพงษ์\" สั่งการบ้าน รฟฟท.ดันฟีดเดอร์ 3 เส้นทาง เชื่อม \"รถไฟสายสีแดง\"

ขณะเดียวกันได้มอบนโยบาย รฟฟท. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ร่วมกันพัฒนาระบบฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าทุกสายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารเดินทางเชื่อมทุกโหมด

ทั้งนี้จะมุ่งเน้นการใช้ระบบทางรางเป็นหลัก ปรับบทบาทของขนส่งทางล้อเป็นฟีดเดอร์ป้อนผู้โดยสารสู่ระบบรางและขนส่งผู้โดยสารไปสู่ปลายทาง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ต้นทุนการเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดทำระบบฟีดเดอร์นี้ทุกหน่วยงานในสังกัดคมนาคมต้องบูรณาการร่วมกัน โดย ขร. และ ขบ. เป็นหน่วยงานหลักทำระบบฟีดเดอร์ต้องพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินการด้วย ทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น รถตู้ หรือรถสองแถวที่ให้บริการตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีการทำระบบฟีดเดอร์

\"สุรพงษ์\" สั่งการบ้าน รฟฟท.ดันฟีดเดอร์ 3 เส้นทาง เชื่อม \"รถไฟสายสีแดง\"

 "หากมีนโยบายนี้จะเกิดผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเดิมหรือไม่ เช่น จำนวนผู้โดยสารลดลง รายได้ลดลง ดังนั้นต้องหาแนวทางดำเนินการที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายต่อไป ทั้งผู้ประกอบการ และผู้โดยสารสามารถอยู่ร่วมกันได้ คาดว่าแผนจัดระบบฟีดเดอร์นี้สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ต้องมีการนำร่อง 3จุด ภายในสิ้นปี 66 หรือต้นปี 67 "

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ระบบฟีดเดอร์เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟฟท. นำร่องระบบฟีดเดอร์ไปแล้ว จากมหาวิทยาลัยรังสิต-สถานีหลักหก พบว่าจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มต่อเนื่อง จากช่วงก่อนนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ก่อนวันที่ 16 ต.ค.66 มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 1,000 คนต่อวัน และ หลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการ 1,500 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 500 คนต่อวัน

 

 นอกจากนี้เพิ่มระบบฟีดเดอร์อีกสิ้นปี 66 จำนวน 3 เส้นทาง 1.เส้นทางห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต-สถานีรังสิต 2.เส้นทางตลิ่งชัน-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 3.เส้นทางมหาวิทยาลัยมหิดล-ศาลายา

\"สุรพงษ์\" สั่งการบ้าน รฟฟท.ดันฟีดเดอร์ 3 เส้นทาง เชื่อม \"รถไฟสายสีแดง\"

 นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง ส่วนต่อขยายสายสีแดง ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างผลักดัน 3 เส้นทาง รวมวงเงิน 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอบรรจุเป็นวาระ เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

 

 ขณะเดียวกัน รฟท. เตรียมจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา หาก ครม. อนุมัติสามารถเปิดประมูลโครงการได้ทันที คาดว่าใช้ระยะเวลาประมูล 6-8 เดือน 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเสนอ ครม. เห็นชอบต่อไป

 

 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท ทรฟท. ได้ตอบกลับความเห็นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจุบันรอสภาพัฒน์รับทราบการตอบกลับของ รฟท. มาก่อน คาดว่าสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ และ ทั้ง 3 โครงการ ครม. จะพิจารณาเห็นชอบได้ในภายในปี 66

 

นายสุเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงก่อนนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ก่อนวันที่ 16 ต.ค.66 มีผู้ใช้บริการ วันธรรมดาอยู่ที่ 24,945 คนต่อวัน มีรายได้ 725,059 บาทต่อวัน หลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารอยู่ที่ 27,941 คนต่อวัน มีรายได้ 553,729 บาทต่อวัน

 

เมื่อนำข้อมูลจำนวนผู้โดยสารและรายได้เปรียบเทียบกันช่วงก่อนและหลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย พบว่าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2,996 คนต่อวัน หรือคิดเป็น 12.01% ขณะที่รายได้ลดลงอยู่ที่ 171,330 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 23.63%

 

ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จำนวนผู้โดยสารก่อนใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย อยู่ที่ 16,002 คนต่อวัน มีรายได้ 512,096 บาทต่อวัน หลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารอยู่ที่ 19,925 คน รายได้ 387,600 บาท

 

 ทั้งนี้เมื่อนำข้อมูลจำนวนผู้โดยสารและรายได้เปรียบเทียบกันช่วงก่อนและหลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย พบว่า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3,923 คน หรือคิดเป็น 22.52% ขณะที่รายได้ลดลง 124,496 บาทต่อวัน หรือคิดเป็น 24.31%

 

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีให้บริการ 25 ขบวน ยังเพียงพอต่อการใช้บริการที่สามารถรองรับผู้โดยสารใช้บริการได้สูงสุดถึง 200,000 คนต่อวัน

 

 อย่างไรก็ตามการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟแวร์ คาดว่าสามารถใช้บริการสายสีแดงและสายสีม่วงข้ามระบบได้ ช่วงเดือน พ.ย.66 และไม่เกิน 1 ธ.ค.66 ซึ่งจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย อยู่ที่สถานีบางซ่อน ก่อนมีโนยาย 20 บาทตลอดสายมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 300 คนต่อวัน และหลังมีนโยบาย 20 บาทใช้บริการอยู่ที่ 500 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 200 คนต่อวัน