ป้ายรถเมล์โฉมใหม่ สภากทม. ปักหมุดสร้าง 2,000 แห่ง รับพื้นที่ฟีดเดอร์

06 ก.ค. 2566 | 17:02 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2566 | 17:10 น.

สภากทม.เล็งสร้างป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ 2,000 แห่ง แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย ลุยขยายพื้นที่ฟีดเดอร์ ภายในปีนี้ ห่วงประชาชนเดือดร้อนหนัก หลังเดินทางระบบขนส่งสาธารณะไม่พบจุดรอรถเมล์

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2566 ถึงนโยบายระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) และศาลาที่พักผู้โดยสารว่า กทม.ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการ 2,000 แห่ง ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำในรูปแบบ Prototype ออกมาแล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนในระยะยาวด้วย หากส.ก.มีข้อมูลจุดที่ต้องเริ่มดำเนินการให้ประชาชนสามารถแจ้งได้ และฝ่ายบริหารจะรับไปดำเนินการในทันที

“วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มีการพูดถึงเส้นเลือดฝอย เช่น พื้นที่ทางเท้า,ทางข้าม สะพานลอย,ระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) ซึ่งเป็นปัญหาจริงของประชาชนที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ส่วนรูปแบบป้ายรถเมล์และศาลาที่พักผู้โดยสาร เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการออกแบบ ซึ่งมีรูปแบบเป็นศาลาเสาเดี่ยว ที่มีหลายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ด้วย รวมถึงมีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและข้อมูลรถโดยสารที่จะผ่าน 

ทั้งนี้แต่ละจุดจะพิจารณาจากลักษณะพื้นที่เป็นหลักและคำนึงถึงข้อจำกัดในการก่อสร้าง อาทิ ทางเท้าแคบ บดบังอาคารหรือร้านค้า ตลอดจนการติดตั้งระบบสาธารณูปโภค, การเลือกจุดจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำหนดจุดป้ายที่พักผู้โดยสาร ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตำรวจจราจร สำนักงานเขตฯ

รวมถึงข้อมูลประกอบจากส.ก.ในพื้นที่ คาดว่าจะมีศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ จำนวน 302 หลัง ภายในปี 66-67 หลังจากนั้นจะเพิ่มจำนวนศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ประมาณ 476 หลัง  ภายในปี 68

ป้ายรถเมล์โฉมใหม่ สภากทม. ปักหมุดสร้าง 2,000 แห่ง รับพื้นที่ฟีดเดอร์

สำหรับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม เนื่องจากกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่เขตรอบนอกประชาชนได้รับความลำบากในการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ

ทั้งนี้เพราะถนนบางสายในบางจุดไม่มีป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางหรือมีแต่ระยะห่างกันและบางจุดไม่มีศาลาที่พักผู้โดยสาร ทำให้ผู้เดินทางได้รับความเดือดร้อน ต้องยืนตากแดดตากฝนรอรถโดยสารประจำทาง เช่น กรณีถนนศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา ได้รับความไม่สะดวกในการเดินทางไปทำงานหรือไปสถานที่ต่าง ๆ ถนนบางสายไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่าน ทำให้ประชาชนต้องใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือใช้บริการรถแท็กซี่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง

ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงควรสำรวจเพื่อติดตั้งป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางและศาลาที่พักผู้โดยสารให้ครอบคลุม รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเพื่อพิจารณาให้บริการเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยจากการใช้รถขนส่งสาธารณะ 

ป้ายรถเมล์โฉมใหม่ สภากทม. ปักหมุดสร้าง 2,000 แห่ง รับพื้นที่ฟีดเดอร์

ขณะที่ภาพรวมการคมนาคมขนส่งของเขตทวีวัฒนา มีถนนสายหลัก สายรอง รถไฟฟ้า โดยถนนแต่ละสายมีทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า ยกตัวอย่าง รถโดยสารสาย 165 วิ่งเชื่อมเส้นทาง จากท่ารถ ผ่านถนนศาลาธรรมสพน์ เชื่อมไปสู่ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ไปสู่ถนนเพชรเกษม และไปสู่บางแคเป็นจุดสุดท้าย

จากการสอบถามข้อมูลพบว่าอำนาจกำหนดเส้นทางเดินรถเป็นของกรมการขนส่งทางบก แต่อำนาจในการตั้งจุดจอดรถโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร  เมื่อกำหนดจุดจอดรถเบื้องต้น โดยนำข้อมูลไปหารือกับประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ และศึกษาข้อมูลจากทฤษฎี Last Mile คือการทำให้ประชาชนได้ใช้การเดินทางที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่สุด 

นอกจากนี้เห็นควรให้มีป้ายรถโดยสาร 14 จุด และ Bike rack 2 จุด ทั้งนี้เพื่อยกระดับการเดินทางให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ สำหรับในระยะยาวอาจใช้รูปแบบของ Feeder เพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะ ดึงคนจากชุมชนเข้าสู่ระบบหลัก การเพิ่ม EV Bus

รวมทั้งยกระดับป้ายรถประจำทางให้มีพื้นที่นั่งรอ มีป้ายบอกการเดินรถที่ได้มาตรฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 10,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 25,000 คน สำหรับระยะเร่งด่วนควรติดตั้ง GPS ระบบสองแถว เชื่อมต่อ VIA Bus และสร้างแผนที่การเดินทางทวีวัฒนาและเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น