ถอดบทเรียน "อดีตแรงงานไทย" หนีสงครามตะวันออกลาง สู่เจ้าของฟาร์มกวาง

20 ต.ค. 2566 | 18:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2566 | 18:42 น.

ย้อนรอยอดีตแรงงานไทย “ภักดี พานุรัตน์” ผู้เคยหนีภัยสงครามตะวันออกกลาง "อิรัก-คูเวต" ต้องกลับมาประเทศไทย พลิกชีวิตสู่อาณาจักรฟาร์มกวาง ”ภักดีฟาร์ม“

ผลพวงจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ส่งทำให้ต้องอพยพแรงงานไทยในอิสราเอลกลับสู่มาตุภูมิอย่างต่อเนื่อง โดยการช่วยเหลือจากรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แรงงานไทยในตะวันออกกลางต้องอพยพหนีภัยสงครามกลับสู่บ้านเกิดอย่างฉับพลันทันด่วน

 

ย้อนรอยสงครามตะวันออกกลาง "อิรัก-คูเวต"

หากแต่ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่อิรักบุกยึดคูเวตในปี 2533 สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ความโกลาหลการอพยพแรงงานไทยในคูเวตกลับสู่มาตุภูมิก็ไม่ได้ต่างไปจากวันนี้

เครื่องบินเที่ยวแล้วเที่ยวเล่ารับแรงงานไทยหลายพันคนหนีภัยสงครามจากจอร์แดนกลับสู่ประเทศไทย

หนึ่งในนั้นก็คือ "ภักดี พานุรัตน์" หรือ บิ๊กแจ๊ค เจ้าของภักดีฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงกวางรายใหญ่ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ที่เดินทางไปขุดทองขายแรงงานในประเทศแถบตะวันออกกลางอยู่หลายปี หวังได้เงินอย่างเป็นกอบเป็นกำเฉกเช่นเดียวกันแรงงานไทยรายอื่น ๆ ในยุคนั้น

นายภักดี พานุรัตน์ เจ้าของภักดีฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงกวางรายใหญ่ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

อดีตหัวหน้าคุมคนงานก่อสร้างประปาให้กับการประปานครหลวง ยอมทิ้งเงินเดือนหลักหมื่นต้น ๆ  เพื่อไปผจญความท้าทายเพื่อรายได้ที่ดีกว่า หลังสิ้นสุดสัญญางานก่อสร้างกับการประปาฯ โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศคูเวต เนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลคูเวตกำลังขยายงานโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ถนนหนทาง ซูเปอร์ไฮเวย์ และขุดเจาะอุโมงค์ทั่วทั้งประเทศ 

“ปลายปี2530 ได้ไปทำงานที่คูเวตกับบริษัทก่อสร้าง เจ้าของเป็นชาวไต้หวัน คนงานมีทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่เจ้าของบริษัทชอบคนงานไทยมาก ขยันขันแข็ง อดทนมีวินัย ไม่อู้งาน เงินเดือนเริ่มต้นตอนนั้น 350 ดีนาร์คูเวตคิดเป็นเงินไทยประมาณ 35,000[บาท(สมัยนั้น 1 ดีน่าร์คูเวตเท่ากับ100บาทไทย) ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับทำงานที่ไทย ส่วนเนื้องานก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก แถมเรื่องกินอยู่นายจ้างก็เป็นคนดูแล”ภักดีย้อนอดีตให้ฟัง

หลังทำงานได้ 2 ปีได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างขยับขึ้นมารับตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์ หัวหน้าช่างคุมคนงานเกือบทั้งหมด แต่ทำอยู่ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่ออิรักบุกยึดคูเวตแบบสายฟ้าแลบ ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 สิงหาคม 2533 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้แรงงานทั้งไทยและเทศแตกกระเจิงหนีตายกันจ้าละหวั่น โดยใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงอิรักก็สามารถยึดครองคูเวตได้สำเร็จ  

ภักดี พานุรัตน์ เมื่อครั้งทำงานที่ตะวันออกลาง

“เป้าหมายอิรักบุกคูเวตครั้งนั้นต้องการยึดประเทศอย่างเดียว ไม่ต้องการฆ่าแรงงานหรือประชาชนผู้บริสุทธ์ ไม่เหมือนกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ในวันนี้ฆ่าไม่เลือกหน้า แต่ตอนนั้นทหารอิรักพอรู้ว่าเป็นคนไทยเขาปล่อยก็ไม่ทำอะไร โชคดีที่ประเทศไทยตอนนั้นมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิรัก เรามีความสัมพันธ์ทางการทูต มีสถานทูตอยู่ที่นั่น คอยให้การช่วยเหลือแรงงานไทย”ภักดีเผย

หลังรัฐบาลประกาศให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในคูเวต โดยผ่านสถานทูตไทยในอิรัก ทำให้แรงงานไทยในคูเวตหลายพันคนต่างรวมกลุ่มเพื่ออพยพออกจากคูเวตในทันที โดยข้ามพรมแดนมาทางอีรักแล้วผ่านมายังจอร์แดน เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ส่งเครื่องบินไปรอรับคนไทยกลับประเทศอยู่ที่นั่น  

“พออิรักยึดคูเวตได้เบ็ดเสร็จก็รู้ว่าสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อแน่ เพราะคูเวตมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังต้องการเอาประเทศคืน จึงจำเป็นต้องอพยพออกออกจากคูเวตโดยเร็วที่สุด แต่ตอนนั้นมีทางเดียวที่ออกได้ต้องผ่านพรมแดนไปยังอิรักก่อนแล้วข้ามมายังจอร์แดนเพื่อกลับไทย ส่วนด่านอื่นถูกปิดตายทั้งหมด ใช้เวลาเดินทางเป้นอาทิตย์กว่าจะมาถึงจอร์แดน จำได้ว่าตอนนั้นผมเป็นแรงงานกรุ๊ปสุดท้ายประมาณ 200 คนบินกลับไทยด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 270 ที่รัฐบาลไทยนำไปรับที่จอร์แดน”ภักดีเล่า

ถอดบทเรียน \"อดีตแรงงานไทย\" หนีสงครามตะวันออกลาง สู่เจ้าของฟาร์มกวาง

เขาเผยอีกว่าสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศของแรงงานไทยในครั้งนั้นได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้รับเงินชดเชยความเสียหายจากสงครามหรือค่าปฏิกรรมสงครามจากองค์การสหประชาชนชาติหรือยูเอ็นอีกด้วย

“ตอนนั้นผมได้รับเงินเป็นค่าปฏิกรรมสงครามจากยูเอ็นคิดเป็นเงินไทยประมาณสองแสนกว่าบาทสำหรับแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกต้องตามกฎหมาย”อดีตแรงงานไทยในคูเวตเผย 

หลังกลับไทยได้ไม่นาน เขาก็มีโอกาสเดินทางไปขายแรงงานต่างประเทศอีกครั้ง โดยครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่ไต้หวันตามคำชักชวนของนายจ้างเก่าเมื่อครั้งทำงานอยู่ที่คูเวต เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไต้หวันกำลังพัฒนาโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคขนานใหญ่ ทั้งไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ตลอดจนตึกรามบ้านช่องต่างๆ

 

กลับไทยลุยลงทุนทำธุรกิจฟาร์มกวาง

ทำอยู่ประมาณ 5 ปีกว่าเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงเดินทางกลับเมืองไทยมาซื้อที่ดินผืนเล็ก ๆ ที่บ้านซำตะเคียน ต.วังนกแอ่น อ. วังทอง จ.พิษณุโลกเพื่อเลี้ยงกวางพันธุ์ลูซ่าจำหน่ายเนื้อ หนังและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตามความตั้งใจ

กว่า 20 ปีที่ภักดีลงทุนทำธุรกิจฟาร์มกวาง จากเริ่มต้นเนื้อที่เพียง 40 ไร่ก็ได้ขยายเพิ่มเป็น 200 ไร่ จากกวางเริ่มต้นเพียง 17 ตัว จนออกลูกออกหลานเพิ่มจำนวนหลายร้อยตัวจากหลากหลายสายพันธุ์ 

ถอดบทเรียน \"อดีตแรงงานไทย\" หนีสงครามตะวันออกลาง สู่เจ้าของฟาร์มกวาง

ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นไม่มีกวางฟาร์มใดในประเทศนี้ที่ผลิตและจำหน่ายเนื้อ หนังกวาง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกวาง อาทิ แคปซูลเขาหวางอ่อน เข้มขัด  ลอกเก็ต รองเท้า หมวกที่ผลิตจากหนังกวางและอีกมากมาย จะสู้ภักดีฟาร์มได้

ทว่าด้วยอายุที่มากขึ้น ได้เห็นสัจธรรมชีวิต ทำให้เขาได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและเป้าหมายทางธุรกิจจากเลี้ยงเพื่อฆ่าเอาเนื้อหนังเป็นรายได้กลับกลายเป็นว่าเลี้ยงเพื่อความสุขเพื่อความรัก ไม่เน้นกำไรขอแค่มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟาร์ม

จากกวางหลายร้อยตัวในหลากหลายสายพันธุ์ ถึงวันนี้มีเพียงไม่กี่สิบตัว พื้นที่เลี้ยงกวางส่วนใหญ่ถูกปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลชนิดต่าง ๆ เช่นเงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง สะตอ รวมถึงพืชผักสมุนไพรต่าง ๆ  พื้นที่บางส่วนก็นำมาสร้างเป็นที่พัก ร้านอาหาร ลานกางเต้นท์ ซุ้มกาแฟ พร้อมปรับโหมดธุรกิจฟาร์มใหม่จากการเลี้ยงกวางเพื่อธุรกิจเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงกวางเพื่อการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ  

ถอดบทเรียน \"อดีตแรงงานไทย\" หนีสงครามตะวันออกลาง สู่เจ้าของฟาร์มกวาง

“ กวางในฟาร์มทุกตัววันนี้ เราเลี้ยงแบบปล่อยไม่ได้กักขังเหมือนแต่ก่อน  เลี้ยงเขาเป็นเพื่อน ไม่ได้เลี้ยงเพื่อฆ่าเอาเนื้อหนัง ปล่อยให้มันแก่ตายเอง ส่วนเนื้อกวางชำแหละ หรือเมนูอาหารกวาง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ที่จำหน่ายในร้านก็สั่งมาจากฟาร์มของเพื่อนสมาชิก” ภักดี เผย

พร้อมระบุว่าภักดีฟาร์มทุกวันนี้ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มาเรียนรู้เรื่องกวาง พร้อมให้บริการอาหาร ที่พักและลานกางเต้นท์เพื่อสัมผัสความงามทางธรรมชาติ ภายใต้สโลกแกน”จิบกาแฟ แลกวาง”ที่ภักดีฟาร์ม