คำต่อคำ "จุลพันธ์" แจกเงินดิจิทัล 10000 ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่สงเคราะห์

17 ต.ค. 2566 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2566 | 17:17 น.
1.1 k

ฟังชัดๆ คำต่อคำ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” แจกเงินดิจิทัล 10000 เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ ย้ำกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่วทุกคน ทุกภูมิภาค ชี้นโยบายยังไม่สรุป พร้อมรับฟังคำท้วงติง

ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันวงกว้างทั้งในโลกโซเชียล รวมไปถึงความคิดเห็นจากนักวิชาการต่างๆที่ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนคงนี้ไม่พ้นเรื่องนโยบายรัฐบาล ในการ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท ซึ่งข้อถกเถียงต่างๆ รวมไปถึงข้อสรุปคงจะเป็นใครที่ให้คำตอบไม่ได้นอกจาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ออกมาย้ำชัดๆถึงการ แจกเงินดิจิทัล 10000 ว่า เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ โดยต้องกระตุ้นให้ทั่วทุกคน และกระตุ้นทั่วภูมิภาค ผ่านกลไกการล็อกระยะทาง

"ขณะนี้ข่าวสารในสังคม เรื่องดิจิทัล เราพยายามแจ้งแล้วให้รับฟังจากทางผม ซึ่งเป็นประธานคณะอนุฯทำงาน ด้านขับเคลื่อนนโยบายเป็นหลัก มีความสับสนพอสมควร ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมามีเรื่องของการปรับลดวงเงิน มีตัวเลข 400,000 ล้านบาท มีการบอกว่าปรับเรื่องของ ผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มด้อยโอกาส

ไม่ถูกต้องทั้งสิ้นนะครับ หนึ่งคือยังไม่มีการสรุป ไม่เคยมีการพูดถึงตัวเลข 400,000 ไม่เคยมีใครในที่ประชุม หรือว่าที่ใดเลยพูดถึงกัน ก็ยังงงว่าเอาตัวเลขลักษณะนี้มาจากไหน ในส่วนของกลุ่มที่เรียกว่าผู้ด้อยโอกาส หรืออะไรก็ตาม 

ผมเรียนว่า ในข้อเท็จจริง นโยบายนี้เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ใดๆ ที่เราจะต้องไปดูว่าคนไหน เป็นคนยากไร้ คนไหนมีความลำบาก แล้วเราจะไปช่วยเขาไม่ใช่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่า ต้องกระตุ้นให้ทั่วทั้งทุกคน และก็กระตุ้นทั่วภูมิภาค ด้วยกลไกการล็อกระยะทาง"

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า "คราวนี้เมื่อมีเสียงท้วงติงจากนักวิชาการ ที่พวกเรารับฟัง ไม่ได้มีประเด็นในเรื่องว่า ทำไมต้องให้คนจนก่อนไหม อันนี้ไม่ใช่นะครับ ต้องเข้าใจตรงกันว่าอันนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่สิ่งที่เรารับฟังเป็นหลัก 

หากเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มคนรวยที่สุด ใช้แล้วร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การทดแทน กระบวนการใช้เงินปกติ ในวงเงินที่เขาเคยมีเท่านั้น อันนี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างรับฟัง 

เมื่อเรารับฟังมาเช่นนี้เราถึงพิจารณาอยู่ว่า เราจะต้องเอาประเด็นนี้ มาเป็นหลักในการพิจารณาหรือไม่ หากจะทำแล้วเราจะดูอย่างไรใครรวยใครจน กระบวนการลงทะเบียนไม่ใช่การลงทะเบียน 

ผมไม่เคยใช้คำว่าลงทะเบียน เป็นกระบวนการในการพิสูจน์ตัวตน อันนี้ต้องมี ยืนยัน KYC เพราะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการที่จะใช้ตัวเงินลักษณะนี้ เทียบเท่ากับบาท จะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ตัวตน คือยืนยันว่าหน้านี้กับบัตรประชาชนนี้ คือคนเดียวกัน"

"เพราะฉะนั้นกระบวนการนี้ต้องทำมีประชาชนคนไทยราว 40 ล้านคน ซึ่งเคยผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนนี้ ผ่านทางนโยบายรัฐอื่นๆ ที่ผ่านมา ฐานข้อมูลเดิมยังใช้ได้ แต่อีกราว 10 กว่าล้านคน ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ

มีความจำเป็นต้องให้ท่านเข้าไปสู่กระบวนการยืนยันตัวตน เมื่อยืนยันตัวตนแล้ว ท่านต้องยืนยันรับสิทธิ์ พิสูจน์ไม่ใช่อะไรเลยนะครับ แค่กด Yes เพื่อยืนยันว่าท่านรับสิทธิ์ อันนี้จำเป็นพอสมควร" นายจุลพันธ์ กล่าว