บิ๊กเอกชนชิงเค้ก 2.2 แสนล้าน แห่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

17 ต.ค. 2566 | 17:32 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 12:14 น.
6.0 k

ไทย-เทศรุกลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน ชิงเค้กตลาด 2.2 แสนล้านบาท ทอท.ร่วมทุน Forth เปิด MRO สนามบินดอนเมือง ทุนจีนเช่าพื้นที่สนามบินเชียงราย ซ่อมเครื่องบิน การบินไทย จ่อทุ่ม 8 พันล้านลงทุนอู่ตะเภา นกแอร์ดีลสนามบิน ทย. เปิด MRO เอ็มเจ็ท คว้างานซ่อมบำรุงเจ็ทหรูกัลฟ์สตรีม

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่เพียงส่งผลให้ธุรกิจการบินกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งนอกจากสายการบินต่างๆจะทยอยกลับมาเปิดเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ Maintenance Repair and Overhaul (MRO) ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเริ่มเห็นการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

บิ๊กเอกชนชิงเค้ก 2.2 แสนล้าน แห่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

เนื่องจากมีความต้องการในการซ่อมบำรุงอากาศยานที่เพิ่มขึ้น จากการกลับมาใช้เครื่องบินมากขึ้น หลังโควิดคลี่คลาย ซึ่งไม่ได้มองเฉพาะการซ่อมบำรุงเครื่องบินให้กับฝูงบินของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนเพื่อขยายการรองรับให้แก่สายการบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน

ก่อนโควิด-19 แอร์บัส ประเมินว่า ภายในปี 2030 การซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้นประมาณ 64,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่มีฝูงบินใหญ่ ทั้งสายการบินแห่งชาติของอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย 141 ลำ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ 111 ลำ การบินไทย 89 ลำ มาเลเซีย 72 ลำ ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ 55 ลำ และ เวียดนาม แอร์ไลน์ 87 ลำ

รวมถึงฝูงบินของสายการบินต้นทุนต่ำในอาเซียน ที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้ MRO ในอาเซียน มีมูลค่าตลาดมากกว่า 6,570 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 2.2 แสนล้านบาท โดยประเทศสิงคโปร์ยังคงเป็นเจ้าตลาดอยู่ที่ 25%

บิ๊กเอกชนชิงเค้ก 2.2 แสนล้าน แห่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทอท.แตกไลน์ธุรกิจมาร่วมลงทุนในธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งทอท.ร่วมลงทุนกับ Forth MRO ทอท.ถือหุ้น 25% Forth ถือหุ้น 75% เพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) บริการ Part maintenance และ บริการ Non destructive test โดยเน้นให้บริการเครื่องตระกูล Narrow body เป็นหลักมูลค่าการลงทุน 800 ล้านบาท โดยประมาณ เปิดให้บริการ ต.ค.69

กิรติ กิจมานะวัฒน์

นอกจากนี้ทอท.ยังให้เปิดพื้นที่ให้เอกชนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานที่จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของ บริษัท เชียงรายเอเวชั่น โฮวดิ้งส์ จำกัด กับกลุ่มบริษัท Aviation Industry Corporation of China (AVIC) เงินลงทุน 722 ล้านบาท

โดยขอบเขตการให้บริการ การซ่อมบำรุงระดับ Maintenance Preflight check, Service check การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) การล้างและขัดสีภายนอกอากาศยาน (Aircraft Exterior Washing & Polishing) เปิดให้บริการประมาณเดือน ก.ค.67

บิ๊กเอกชนชิงเค้ก 2.2 แสนล้าน แห่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยมีความพร้อมลงทุน MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา เพราะมีเงินทุนเพียงพอ มีกระแสเงินสดสะสมสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่าความต้องการซ่อมบำรุงอากาศยานมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน

ชาย เอี่ยมศิริ

ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนรูปแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3-4 เดือนนี้ เนื่องจากโครงการนี้เคยมีการศึกษาไว้นานแล้ว ทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาจัดหาพันธมิตรร่วมลงทุนด้วย

เบื้องต้นมีการประเมินรูปแบบลงทุนไว้หลายโมเดล และมีเอกชนเสนอเข้าร่วมลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งแผนเดิมที่เคยศึกษาเพื่อร่วมทุนกับบริษัทแอร์บัส ประเมินวงเงินลงทุนที่การบินไทยต้องจัดหาอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท ส่วนแผนที่กำลังจะศึกษาทบทวนครั้งนี้ก็คาดว่าจะใช้วงเงินใกล้เคียงกัน แต่จะเป็นรูปแบบลงทุนอย่างไรต้องรอให้ผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อน

ส่วนเป้าหมายที่การบินไทยกำหนด คือ ต้องการให้ MRO อู่ตะเภาเป็นอีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้องค์กรอย่างยั่งยืน สามารถขยายรับซ่อมบำรุงอากาศยานกับลูกค้าสายการบินอื่น นอกเหนือจากปัจจุบันที่การบินไทยซ่อมบำรุงเฉพาะอากาศยานของบริษัท ที่ผ่านมาการบินไทยเรามีความรู้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานมาเป็นเวลานานแล้ว

บิ๊กเอกชนชิงเค้ก 2.2 แสนล้าน แห่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

แต่สิ่งที่ยังขาดคือ การหาลูกค้าสายการบิน เพราะที่ผ่านมาเรามีศูนย์ซ่อมเพื่อซ่อมอากาศยานของตัวเอง ดังนั้นพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนก็อยากได้คนที่มีประสบการณ์ มีลูกค้าในมืออยู่แล้ว รวมไปถึงสามารถบริการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ศูนย์ซ่อมนี้มีโอกาสทางธุรกิจที่ยั่งยืน นายชายกล่าว    

สำหรับพื้นที่การลงทุน MRO ที่สนามบินอู่ตะเภา อีอีซี ได้กันพื้นที่ไว้ 210 ไร่ให้การบินไทยลงทุน ส่วนอีก 300 ไร่จะเป็นโครงการ MRO เฟส 2 ที่จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุน ซึ่งทางบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ก็สนใจที่จะลงทุนในโครงการนี้ แต่ต้องการรอความชัดเจนในการลงทุนรันเวย์ 2 ของกองทัพเรือว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

รวมถึงยังมีนักลงทุนต่างชาติแสดงความสนใจลงทุน MRO ที่อู่ตะเภาอีกหลายรายด้วย แต่ทุกอย่างยังต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนจากการบินไทยก่อน ซึ่งทางอีอีซี ให้เวลาการบินไทยสรุปแผนลงทุนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะรู้ว่าการบินไทยจะใช้พื้นที่จริงมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุนในส่วนที่เหลือต่อไป

วุฒิภูมิ จุฬางกูร

ด้านนาย “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ในขณะนี้นกแอร์ มีแผนลงทุน MRO (ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน) โดยจะแยกออกมาเป็นบริษัทใหม่ในเครือของนกแอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ทเนอร์ทั้งไทยและต่างชาติในการร่วมลงทุน 2-3 ราย

โดยเราให้ความสำคัญกับโนฮาวว่าจะเอาของประเทศไหน ไม่ว่าจะเป็น จีน อิสราเอล สิงคโปร์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องของการร่วมลงทุนได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า

จากการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน MRO เราเห็นว่ามีดีมานด์และสนใจที่จะลงทุน โดยประเมินว่าจะใช้งบลงทุน 1,400 ล้านบาท ที่จะสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) 2 โรง เป็นโรงซ่อมใหญ่ 1 โรง สามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวแคบได้พร้อมกัน 2 ลำ และโรงเพ้นท์เครื่องบินอีก 1 โรง

สำหรับพื้นที่ในการลงทุน MRO กำลังพิจารณาว่าจะลงทุนที่สนามบินใดจึงจะเหมาะสม เพราะตอนแรกมองว่าจะเช่าพื้นที่สนามบินของทอท.แต่ติดที่ต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% จึงมองว่าต้นทุนสูงเกินไป ก็มองการลงทุนที่สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ด้วย มีเสนอสนามบินในภาคอีสานขึ้นมา ก็พิจารณาอยู่ แต่จะไม่ลงทุนที่สนามบินอู่ตะเภา

เพราะกว่าการสร้างรันเวย์ใหม่ของสนามบินจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี แต่นกแอร์มองว่าถ้าไตรมาสแรกปีหน้าสรุปผู้ถือหุ้นเสร็จ ก็จะใช้เวลาสร้างอีก 2 ปี แล้วเสร็จปี 2569 โดยจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทำเรื่องของการซ่อมใหญ่ (Heavy Maintenance) แลนด์ดิ้ง เกียร์ องค์ประกอบต่างๆ ของตัวเครื่องบิน แต่ไม่มีการซ่อมเรื่องเครื่องยนต์

บิ๊กเอกชนชิงเค้ก 2.2 แสนล้าน แห่ลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยาน

ขณะที่นายณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้“เอ็มเจ็ท” ธุรกิจในเครือของไมเนอร์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจบริการเครื่องบินส่วนตัวครบวงจรในประเทศไทย รวมถึงไพรเวท เจ็ท เทอร์มินัล ในสนามบินดอนเมือง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและบริการหลังการขายอย่างเป็นทางการจาก กัลฟ์สตรีม (Gulfstream)

โดยพร้อมสนับสนุนการซ่อมบำรุงที่ครอบคลุมกับเครื่องบินทุกรุ่นของ กัลฟ์สตรีม (Gulfstream) เช่น G280 G550 G650 G650ER G500 และ G600 ซึ่งถือเป็นสเต็ปแรกที่จะนำเอ็มเจ็ทสู่ผู้นำอันดับ 1 ด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกัลฟ์สตรีม