ทอท.ปั้มรายได้ Non-Aero ลุยโลจิสติกส์ พาร์ค ร่วมทุน MRO สนามบินดอนเมือง

23 พ.ค. 2566 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2566 | 12:23 น.
982

ทอท.ตั้งเป้าปั้มรายได้ปี 67 กลับมาแตะ 6.4 หมื่นล้านบาท ดันรายได้ Non-Aero เปิดประมูลที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิ พัฒนาเป็นศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก-โลจิสติกส์ พาร์ค นำบริษัทลูกร่วมประมูลงานในสนามบิน แตกไลน์ธุรกิจร่วมลงทุน MRO สนามบินดอนเมือง

ไฮไลต์ : ทอท.ตั้งเป้าปั้มรายได้ปี 67 กลับมาแตะ 6.4 หมื่นล้านบาท ดันรายได้ Non-Aero เตรียมเปิดประมูลที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิ พัฒนาเป็นศูนย์รวบรวมและตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก-โลจิสติกส์ พาร์ค นำบริษัทลูกร่วมประมูลชิงผู้ประกอบการรายที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมแตกไลน์ธุรกิจร่วมลงทุน MRO สนามบินดอนเมือง

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง เอ็มดีใหม่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.มองเป้าหมายในแง่การดำเนินธุรกิจของทอท.ว่าในปีนี้จะไม่ขาดทุน ส่วนในปี 67 คาดว่าจะมีรายได้กลับมาแตะระดับเดิมก่อนโควิด ซึ่งเคยอยู่ที่ 64,384 ล้านบาท และมีกำไรขยายตัวเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ไม่เพียงการเติบโตของรายได้จากกิจการการบิน (Aeronautical Revenues) เท่านั้น แต่ทอท.ยังโฟกัสการเพิ่มรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Non-Aeronautical Revenues) อาทิ รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์, ค่าเช่า และรายได้เกี่ยวกับการบริการในสนามบิน จากการขยายการลงทุนใหม่ การร่วมลงทุนและสร้างโอกาสเพิ่มรายได้จากธุรกิจลูก

แนวทางหารายได้ Non-Aero ของทอท.

ทอท.คาดปลายปีนี้ธุรกิจการบินฟื้นแตะระดับก่อนโควิด

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในขณะนี้ การเดินทางในประเทศกลับมา 100% ส่วนการเดินทางในเส้นทางบินระหว่างประเทศอยู่ที่ราว 70% และมีแนวโน้มว่าในช่วงตารางบินฤดูหนาวที่จะเริ่มในปลายปีนี้การเดินทางในเส้นทางระหว่างประเทศก็จะกลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับในปี 62 หรืออยู่ที่ระดับ 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งถ้าปริมาณผู้โดยสารกลับมาแตะระดับเดิม ในปี 67 ทอท.ก็จะมีรายได้จากธุรกิจการบิน (Aero) กลับเข้ามาแตะระดับเดิมก่อนโควิด

กีรติ กิจมานะวัฒน์

“ผมมั่นใจว่าในปี66 ผลการดำเนินงานจะไม่ขาดทุน เนื่องจากผู้โดยสารกลับมาแล้ว ซึ่งก่อนโควิดทอท.มีรายได้ 65,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าผู้โดยสารฟื้นกลับมา ทอท.ก็คาดว่าในปี 67 จะมีรายได้กลับมาเติบโตและมีกำไรอย่างที่เคยสำเร็จในอดีตแน่นอน”

การกลับมาขยายตัวของผู้โดยสาร ก็จะทำให้ธุรกิจเชิงพาณิชย์ในสนามบินอยู่ได้ด้วย ทอท.ก็จะมีรายได้จาก Non-Aero เข้ามาเพิ่มและมีกำไร ซึ่งทอท.จะมีรายได้จาก Aero อยู่ในสัดส่วน 55% และ Non-Aero อยู่ที่ 45% แต่ปัญหาในขณะนี้แม้ผู้โดยสารจะเข้ามา แต่ปัญหาคือผู้โดยสารใช้เวลาภายในอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) มากเกินไป เพราะต้องรอเช็คอิน รอตรวจค้น

ทำให้ต้องรีบขึ้นเครื่องบิน ไม่มีเวลาช้อปปิ้งในสนามบิน ซึ่งทอท. อยู่ระหว่างการแก้ปัญหาความแออัดภายในเทอร์มินัล ส่งผลให้ผู้โดยสารไม่ต้องใช้เวลาในพื้นที่อาคารผู้โดยสารนานเกินไป จะได้มีเวลาช้อปปิ้งดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวและรู้สึกสะดวกสบาย โดยเน้นนำระบบไอทีเข้ามาให้บริการผู้โดยสาร อาทิ การนำ Self Check-in และ Self-Service Bag Drop มาช่วยสายการบินให้ผู้โดยสารเช็คอินด้วยตัวเอง 

เปิด 2 พื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิดึงเอกชนร่วมลงทุน

นอกจากนี้ทอท.ยังเน้นการนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งบริเวณพื้นที่รอบสนามสุวรรณภูมิ ทอท.มีที่ดินแปลง 37 และที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 700 กว่าไร่ที่ซื้อมาจากแนวเส้นเสียงตอนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะต้องนำกลับมาใช้ดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เพื่อทำให้เกิดรายได้

โดยในขณะนี้ทอท.ลงทุน 1,800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนนผ่านพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าอีก 1 ปีครึ่งจะแล้วเสร็จ ทำให้พื้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในช่วงปลายปีนี้ทอท.น่าจะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการบินได้ โดยกิจกรรมที่ได้รับการอนุมัติเพื่อลงทุนบนที่ดินดังกล่าว จะมี 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

1. ศูนย์รวบรวมและตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Pre-Shipment Inspection and perishable distribution center ให้บริการรวบรวมและตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และจัดการสินค้าเกษตรก่อนส่งออก เพื่อให้สินค้าส่งออกของไทย ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานก่อนถูกขนส่งทางอากาศไปยังประเทศปลายทาง เพื่อช่วยป้องกันการถูกปฏิเสธและตีกลับสินค้า ลดการสูญเสีย ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกรวมทั้งลดค่าเสียโอกาสในการส่งออกสินค้าและเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

2. Fulfillment center และ Logistic Park เป็นพื้นที่ให้บริการเช่าเพื่อพัก รวบรวม คัดแยกสินค้าที่จะนำส่งออกและขนถ่ายมาจากเครื่องบิน เพื่อกระจายไปยังสถานที่ปลายทาง เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สามารถรองรับผู้ประกอบการได้มากและมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการประกอบกิจกรรมดังกล่าว

รวมไปถึงการหารายได้ของบริษัทลูกของทอท. ซึ่งเรามองว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ซึ่งที่ผ่านมาครม.อนุมัติให้ทอท.เปิดสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการรายที่ 3 ในโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และโครงการให้บริการคลังสินค้า สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งทอท.ก็จะให้บริษัทลูกเข้าประมูลแข่งขันกับเอกชนรายอื่นด้วย อาทิ AOTGA ร่วมประมูลบริการภาคพื้น

ทอท.แตกไลน์รุกธุรกิจ MRO สนามบินดอนเมือง

ขณะเดียวกันทอท.ก็จะแตกไลน์ธุรกิจ โดยการร่วมลงทุนดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งทอท.ร่วมลงทุนกับ Forth mro ทอท.ถือหุ้น 25% Forth ถือหุ้น 75% เพื่อซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) บริการ Part maintenance และ บริการ Non destructive test โดยเน้นให้บริการเครื่องตระกูล Narrow body เป็นหลักมูลค่าการลงทุน 800 ล้าน โดยประมาณ เปิดให้บริการ ต.ค.69

นอกจากนี้ทอท.ยังให้เปิดพื้นที่ให้เอกชนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานที่จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนของ บริษัท เชียงราย เอเวชั่น โฮวดิ้งส์ จำกัด กับกลุ่มบริษัท Aviation Industry Corporation of China (AVIC) เงินลงทุน 722 ล้านบาท โดยขอบเขตการให้บริการ การซ่อมบำรุงระดับ Maintenance Preflight check, Service check การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับ A-check (Light Maintenance) ถึง C-check (Heavy Maintenance) การล้างและขัดสีภายนอกอากาศยาน (Aircraft Exterior Washing & Polishing) เปิดให้บริการประมาณเดือน ก.ค.67