ไฟเขียวตั้ง “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่

18 ม.ค. 2566 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2566 | 23:01 น.
3.8 k

บอร์ดทอท.ไฟเขียวแต่งตั้ง “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่ :ซึ่งเป็นคนที่ 14 แทนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะหมดวาระในเดือนเมษายน 2566

วันนี้ (วันที่ 18 มกราคม 2566) แหล่งข่าวจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าในการประชุมคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ทอท. หรือ AOT วันนี้ ว่า บอร์ดทอท.มติเห็นชอบแต่งตั้ง นาย กีรติ  กิจมานะวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่  ซึ่งเป็นคนที่ 4 ต่อจาก นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะหมดวาระในเดือนเมษายน 2566

 

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ตามกระบวนการต่อไปจะส่งรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกพร้อมประวัติและคุณสมบัติให้คณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนของผู้อำนวยการใหญ่ AOT ดำเนินการพิจารณากำหนดผลตอบแทน สิทธิประโยชน์ ร่างสัญญาจ้าง และเจรจาต่อรองผลตอบแทนกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือก และเสนอผลการเจรจา

พร้อมร่างสัญญาจ้างต่อคณะกรรมการ AOT เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นอกจากนี้ยังต้องเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

จากนั้นจะเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ โดยเมื่อกระทรวงการคลังได้พิจารณาเห็นชอบค่าตอบแทนและร่างสัญญาจ้างแล้ว จะเสนอคณะกรรมการ AOT เพื่อดำเนินการแต่งตั้ง และเชิญผู้ได้รับการคัดเลือกมาลงนามในสัญญาจ้างต่อไปเพื่อให้เริ่มปฏิบัติหน้าที่เดือนในเดือนพฤษภาคม 2566 มีวาระดำรงตำแหน่งไม่เกิน 4 ปี

ทั้งนี้ในการเปิดสรรหาผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่ มีผู้สมัคร 4 คน โดย “กีรติ กิจมานะวัฒน์” มีคะแนนนำสูงสุด เรียงตามอันดับ ดังนี้

1. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้คะแนนรวม 95 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม

2. นางฉฎาณิศา ชำนาญเวช รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้คะแนน 91 คะแนน

3. นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ 88 คะแนน

4. นายพรประสิทธิ์ เด่นโมฬี อดีตผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ บริษัท บีเอ็มดับบลิว (ไทยแลนด์) ได้ 86 คะแนน

 

โดยในวันแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ นายกีรติ ได้นำเสนอถึงแผนกลยุทธ์ในการรองรับผู้โดยสารที่จะกลับเข้ามาใช้ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของทอท. รวมถึงขั้นตอนและกรอบเวลาในการพัฒนาขยายขีดความสามารถของสนามบินทั้ง 6 แห่ง อย่างละเอียดและชัดเจน   ทำให้คณะกรรมการสรรหาให้คะแนนนายกีรตินำโด่ง

โดยบอร์ดทอท.เห็นชอบตามคะแนนดังกล่าว และมองเห็นว่านายกีรติ ครบเครื่องทั้งเรื่องคอนเนคชั่นการเมือง และฝีมือการทำงานในสายวิศวกรรม ซึ่งจะมีเมกกะโปรเจคในการลงทุนของทอท.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามแผนการขยาย 6 สนามบินเดิมในความรับผิดชอบของทอท.และสนามบินที่ทอท.จะรับเพิ่มเข้ามาบริหารอีก 3 แห่ง อย่างสนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์

ปัจจุบันนายกีรติ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.คุมสายงานด้านวิศวกรรม เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2521 จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์เกียรตินิยม เหรียญทอง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ส่วนระดับปริญญาโท และ เอก เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น  จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

โดยก่อนมามาทำงานในทอท. นายกีรติ เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหารบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในหลายโครงการเมกะโปรเจ็คสำคัญๆ ที่รับสัญญางานจ้างจากหน่วยงานต่างๆของกระทรวงคมนาคม เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในหลายโครงการ

เช่น โครงการตั๋วร่วม, โครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค, โครงการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย, โครงการต่อสัญญาทางด่วน, โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว ,โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต,โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองบุรีรัมย์ เป็นต้น

ทั้งเคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ก่อนจะมานั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท.ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 ซึ่งในครั้งนั้นบอร์ดบอร์ดทอท.มีมติเห็นชอบวาระลับอนุมัติให้นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอการคัดเลือกบุคคลากรด้วยวิธีแบบเฉพาะเจาะจง ให้ทดลองงานเป็นเวลา 120 วัน ผ่านเกณฑ์การประเมินได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างของ ทอท.

ในช่วงนั้นก็มีกระแสต้านจากพนักงานอยู่บ้างแล้วก็เงียบหายไปด้วยเหตุผลที่ว่าบอร์ด ทอท. มีการแต่งตั้งนายกีรติ เนื่องจากมองว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสายงานวิศวกรรม ซึ่งปัจจุบันทอท. มีแผนที่จะพัฒนาสนามบินอีกหลายแห่ง

หลังนั่งเก้าอี้รองสายวิศวกรรม นายกีรติ ก็แสดงผลงานทำให้งานก่อสร้างต่างๆที่เคยคั่งค้างอยู่ดำเนินการต่อไปได้แม้จะเกิดผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทำงานตอบสนองนโยบายของกระทรวงคมนาคมได้เป็นอย่างดี ทั้งก่อนหน้านี้ทอท.ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ขยายตำแหน่งงานด้านวิศกรรมและการก่อสร้างให้ใหญ่กว่าเดิม เพื่อรองรับการขยายการลงทุนต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้

ไม่ว่าจะเป็นแผนขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งแผนการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเสนอครม.ได้ภายในเดือนมีนาคม 2566 และเปิดประกวดราคาในเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งแผนลงทุนอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงิน 41,260 ล้านบาท และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศตะวันตก (West Expansion) วงเงิน 7,830 ล้านบาท

รวมไปถึงโครงการขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 ลงทุน 36,829.499 ล้านบาท แผนขยายสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 วงเงิน 15,818 ล้านบาท แผนในการขยาย 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ที่ทอท.จะเข้าไปรับบริหารจัดการ ที่ต้องลงทุนขยายสนามบินอีกราว 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น