จับตา “กีรติ กิจมานะวัฒน์”นั่งเก้าอี้เอ็มดีทอท.คนใหม่ บอร์ดเคาะพรุ่งนี้

17 ม.ค. 2566 | 13:46 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2566 | 00:15 น.
1.3 k

จับตา “กีรติ กิจมานะวัฒน์” นั่งแท่นเอ็มดีทอท.คนใหม่ ครบเครื่องทั้งสายสัมพันธ์การเมือง รวมถึงฝีมือด้านวิศวกรรม บอร์ดเคาะรายชื่อพรุ่งนี้ ก่อนขึ้นกุมบังเหียนองค์กรเดินหน้าลุยเมกะโปรเจคอีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้น

โค้งท้ายแล้วสำหรับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT คนใหม่แทนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะครบวาระการจ้าง ในวันที่ 20 เมษายน 2566 หลังล่าสุดผู้ท้าชิงเก้าอี้เอ็มดี ทอท.ทั้ง 3 รายได้ผ่านการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา และจะมีการเสนอบอร์ดทอท.เคาะรายชื่อในวันที่ 18 มกราคมนี้

แปลกแต่จริงที่เก้าอี้เอ็มดีทอท.คนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการองค์กรที่มีมูลค่าของสินทรัพย์ร่วม 1.7 แสนล้านบาท ไม่ได้ดึงดูดใจให้มีผู้สมัครเข้ามาเป็นตัวเลือกมากนัก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเก้าอี้นี้มีการเซ็ทตัวไว้อยู่แล้ว ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ซึ่งยุคนี้มีเจ้ากระทรวง อย่าง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ แห่งพรรคภูมิใจไทย 

โดยตั้งแต่เปิดให้ยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 13 ธันวาคม 2565 มีผู้สมัครชิงเก้าอี้เอ็มดีทอท.แค่ 3 ราย  เป็นลูกหม้อทอท. และบุคคลภายนอก 1 ราย ประกอบด้วย

1.นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท.

2.นางฉฎาณิศา ชำนาญเวช รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค ทอท.

3. นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ ฝ่ายปฏิบัติการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

4. นายพรประสิทธิ์ เด่นโมฬี ผู้บริหารของบริษัท รีไว้ท์ทไลซ์ อินโนเวชั่น จำกัด

ดูจากรายชื่อฟันธงได้เลยว่า “กีรติ กิจมานะวัฒน์” หรือ “รองโอ๊ค” นอนมาแน่นอน เพราะจากโปรไฟล์ในอดีตที่คุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆของกระทรวงคมนาคม และผลงานที่เข้ามานั่งทำงานในทอท.ที่คุมสายวิศวกรรมมาตั้งแต่ปี 2563  ก็สร้างฝีมือให้คนในองค์กรได้เห็น และผลักดันหลายโครงการเดินหน้าได้  

 

กีรติ กิจมานะวัฒน์

 

ขณะที่ผู้สมัครอีกรายที่เป็นลูกหม้อทอท. คือ “ฉฎาณิศา ชำนาญเวช” เคยเป็นเลขานายศรีสุข จันทรางศุ ในยุคที่เข้ามาคุมการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อครั้งยังเป็นบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ก่อนจะมาคุมฝ่ายบริหารธุรกิจบทม.และขยับขึ้นมาคุมสายงานสนามบินภูมิภาคของทอท.

 

ฉฎาณิศา ชำนาญเวช

 

ส่วน “วิทยา พันธุ์มงคล” ก็เชี่ยวชาญด้านระบบรางเป็นหลักเท่านั้น ด้าน “พรประสิทธิ์ เด่นโมฬี ” ก็เชี่ยวชาญ ทางด้านซัพพลาย เช่น โลจิสติกส์ นวัตกรรม พลังงาน การตลาด และการสร้างแบรนด์

เมื่อดูแล้วทั้งบอร์ดทอท.และคนในองค์กร ก็มองเห็นว่านายกีรติ ครบเครื่องทั้งเรื่องคอนเนคชั่นการเมือง และฝีมือการทำงานในสายวิศวกรรม ซึ่งจะมีเมกกะโปรเจคในการลงทุนของทอท.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามแผนการขยาย 6 สนามบินเดิมในความรับผิดชอบของทอท.และสนามบินที่ทอท.จะรับเพิ่มเข้ามาบริหารอีก 3 แห่ง อย่างสนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์

โดยก่อนมามาทำงานในทอท. นายกีรติ เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหารบริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในหลายโครงการเมกะโปรเจ็คสำคัญๆ ที่รับสัญญางานจ้างจากหน่วยงานต่างๆของกระทรวงคมนาคม เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในหลายโครงการ

เช่น โครงการตั๋วร่วม, โครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค, โครงการสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย, โครงการต่อสัญญาทางด่วน, โครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว ,โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต,โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองบุรีรัมย์ เป็นต้น

ก่อนจะมานั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท.ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 ซึ่งในครั้งนั้นบอร์ดบอร์ดทอท.มีมติเห็นชอบวาระลับอนุมัติให้นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอการคัดเลือกบุคคลากรด้วยวิธีแบบเฉพาะเจาะจง ให้ทดลองงานเป็นเวลา 120 วัน ผ่านเกณฑ์การประเมินได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างของ ทอท.

ในช่วงนั้นก็มีกระแสต้านจากพนักงานอยู่บ้างแล้วก็เงียบหายไปด้วยเหตุผลที่ว่าบอร์ด ทอท. มีการแต่งตั้งนายกีรติ เนื่องจากมองว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสายงานวิศวกรรม ซึ่งปัจจุบันทอท. มีแผนที่จะพัฒนาสนามบินอีกหลายแห่ง

หลังนั่งเก้าอี้รองสายวิศวกรรม นายกีรติ ก็แสดงผลงานทำให้งานก่อสร้างต่างๆที่เคยคั่งค้างอยู่ดำเนินการต่อไปได้แม้จะเกิดผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทำงานตอบสนองนโยบายของกระทรวงคมนาคมได้เป็นอย่างดี ทั้งก่อนหน้านี้ทอท.ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ขยายตำแหน่งงานด้านวิศกรรมและการก่อสร้างให้ใหญ่กว่าเดิม เพื่อรองรับการขยายการลงทุนต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้

ไม่ว่าจะเป็นแผนขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งแผนการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสามารถเสนอครม.ได้ภายในเดือนมีนาคม 2566 และเปิดประกวดราคาในเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งแผนลงทุนอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) วงเงิน 41,260 ล้านบาท และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังเดิมด้านทิศตะวันตก (West Expansion) วงเงิน 7,830 ล้านบาท

รวมไปถึงโครงการขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 ลงทุน 36,829.499 ล้านบาท แผนขยายสนามบินเชียงใหม่ เฟส 1 วงเงิน 15,818 ล้านบาท แผนในการขยาย 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) ที่ทอท.จะเข้าไปรับบริหารจัดการ ที่ต้องลงทุนขยายสนามบินอีกราว 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

สำหรับรายชื่อบอร์ดทอท.ที่จะลงมติคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่ ประกอบไปด้วย

  • นาย สราวุธ ทรงศิวิไล      ประธานกรรมการ
  • นาย นิตินัย ศิริสมรรถการ   ผู้อำนวยการใหญ่, กรรมการ
  • นาย พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์          กรรมการ
  • นาย อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย   กรรมการ
  • นาย วราห์ ทองประสินธุ์  กรรมการอิสระ, ประธานกรรมการตรวจสอบ
  • พล.ต.อ. มนู เมฆหมอก    กรรมการอิสระ
  • นาง ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  • พล.อ.อ. ภานุพงศ์ เสยยงคะ          กรรมการอิสระ
  • น.ส. สุทธิรัตน์ รัตนโชติ  กรรมการอิสระ
  • นาย กฤษณ์ เสสะเวช       กรรมการอิสระ
  • น.ส. ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ     กรรมการอิสระ
  • นาง พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์     กรรมการอิสระ
  • นาย จิรพล สังข์โพธิ์    กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  • นาย กฤชเทพ สิมลี          กรรมการอิสระ