สตง.ลุยสอบนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

13 ต.ค. 2566 | 14:34 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 15:10 น.
7.4 k

สตง.ลุยสอบนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยง ผลกระทบ ความมั่นคงฐานะทางการเงิน การคลังของประเทศ

นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต หรือ "เงินดิจิทัล" 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป วงเงิน 560,000 ล้านบาทของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน การคลังของประเทศในระยะยาว

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สตง.กำลังศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลอยู่ว่าจะกระทบกับวินัยการเงิน การคลังอย่างไร

โดยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง. ได้มีคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 305/2566 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

คำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ให้ทราบถึง เจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล โดยมีนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นหนึ่งในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนของฐานะทางการเงินการคลังของรัฐตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 มาตรา 54(9) ประกอบมาตรา 59(10) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ประกอบด้วย

1. นางสาวน้อมจิตร์ สังข์ด่านจาก ประธานคณะทำงาน

2. นายชิราวุธ ยอดกุล คณะทำงาน

3. นายคมกฤช ชัยวงค์ คณะทำงาน

4. นายกนต์ธร แก้วไพฑูรย์ คณะทำงาน

5. นายปิยชาญ ตาลอำไพ คณะทำงาน

6. นายวุฒิอานันท์ ปิ่นมิ่งนิมิต คณะทำงานและเลขานุการ

ในคำสั่งผู้ว่าสตง. ระบุให้คณะทำงานชุดดังกล่าวดำเนินการศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย วิเคราะห์ ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000  บาท ผ่าน Digital Wallet หากมีความจำเป็นต้องขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดให้เสนอขออนุมัติต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อปรึกษาหารือที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ต่อไป

ในคำสั่งยังระบุให้คณะทำงานจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และเสนอต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

“ในการนี้ให้ ข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะทำงานตามคำสั่งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์”คำสั่งผู้ว่าสตง.ระบุ

คำสั่งผู้ว่า สตง.ตั้งคณธทำงานตรวจสอบเงินดิจิทัล 10,000

 

 

คำสั่งผู้ว่า สตง.ตั้งคณธทำงานตรวจสอบเงินดิจิทัล 10,000

 

ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเงินดิจิทัล 10,000

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พร้อมให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาวตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่วิเคราะห์และเฝ้าระวังโครงการเงินดิจิทัล มีความน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงในด้านใดบ้าง เพราะตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้อำนาจ ป.ป.ช.ให้คำแนะนำหน่วยงานรัฐและรัฐบาล เพื่อให้วางมาตรการป้องกันการทุจริตหรือข้อน่าห่วงใยที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการต่างๆที่มีความสุ่มเสี่ยงได้

“เบื้องต้นในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช.จะรวบรวมประเด็นที่มีข้อถกเถียง และเชิญผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณวุฒิมาศึกษาร่วมกันว่า โครงการมีความสุ่มเสี่ยง หรือข้อควรระวังในการดำเนินการหรือไม่ จากนั้นถ้ามีข้อห่วงใยจะเสนอความเห็นไปยัง ครม.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้หาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ หรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ” เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว