รัฐบาล กาง 3 แผน หางบอัดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้าน

13 ต.ค. 2566 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2566 | 15:06 น.
1.6 k

“หมอมิ้ง” ยันแจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน ไม่กระทบเรทติ้งประเทศ ขอให้เชื่อมือรัฐบาลบริหารการเงินเป็น ชี้ทางเลือกหาเงินมีแล้ว 3 ทางเลือก รอคณะอนุกรรมการสรุปอีกที พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลยืนยันการผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ

ทั้งนี้เพราะรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเรื่องของการเงินได้ และที่สำคัญคือ เมื่อทำแล้วต้องไม่กระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา Union Bank of Switzerland ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็เขียนชัดเจนว่า นโยบายนี้จะไม่กระทบต่อเรทติ้งประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือกันในคณะกรรมการชุดใหญ่แล้วว่าจะไม่กระทบต่อเรทติ้ง

ส่วนข้อคิดเห็นต่าง ๆ รัฐบาลก็เคยตั้งคำถามเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินว่าจะเป็นอะไรไหม และขยับแบบนี้เป็นอะไรไหม แล้วตั้งคืนเงินอย่างไร โดยได้รับการยืนยันว่า เรทติ้งไม่ขยับ โดยรัฐบาลบริหารการเงินเป็น และเห็นว่าตรงไหนควรทำยังไง

 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งวงเงินเพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล ซึ่งจะมีทางเลือกอยู่ 2-3 ทางเลือก นั่นคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ การใช้เงินภายใต้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือสุดท้ายถ้าไม่พอหรือจำเป็นก็อาจต้องมีการกู้เงิน

โดยทางเลือกทั้งหมด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน จะเป็นผู้สรุปรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับแหล่งวงเงินส่วนแรกที่จะนำมาใช้ นั่นคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหนึ่งก็ต้องไปหาทางเกลี่ยงบประมาณบางโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หากยังไม่จำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ล่าสุดรัฐบาลสามารถทำได้บางส่วนแล้ว โดยจะให้เลื่อนการจัดซื้อโครงการขนาดใหญ่ลง และจะจัดงบไปเป็นค่าบำรุงรักษาให้แทน

 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

อีกส่วนหนึ่งคือการใช้กลไกตามมาตรา 28 หรือการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจ่ายเงินให้ไปก่อน และรัฐบาลตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นช่องทางนี้สามารถทำได้ แม้ว่าจะมีการขยายเพดานออกไป โดยรัฐบาลเตรียมแผนการคืนเงินอย่างชัดเจนแล้ว เช่น ถ้าใช้เงินไม่เกิน 2-3 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบใช้คืนปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 

ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ การกู้เงินโดยตรง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะในปีต่อ ๆ ไป จีดีพีจะขยายตัวมากขึ้น จึงมีช่องว่างมากขึ้นตามไปได้ แต่ทุก ๆ ทางเลือกนั้น คณะอนุกรรมการจะหาข้อสรุปถึงทางเลือกต่าง ๆ ที่เหมาะสม หรืออาจใช้ทางเลือกต่าง ๆ ผสมกันได้ 

“รัฐบาลจะรับพังและพิจารณาอย่างรอบคอบ และเลือกเส้นทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ด้วยความรับผิดชอบว่าจะรักษาวินัยการคลังอยู่รอดและโตต่อไปได้ ซึ่งข้อคิดเห็นที่มีตอนนี้ ในระบบประชาธิปไตยสามารถตรวจสอบตัวเลขต่าง ๆ ได้ และต้องดูด้วยความเป็นธรรม ไม่มีอคติ หรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง หรือจ้องจะทำลายความน่าเชื่อถือ รัฐบาลเชื่อว่า ถ้าเราร่วมมือแล้วประเทศจะไปได้ดี แต่ถ้ามีข้อวิจารณ์ก็ขอให้วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ เพราะล้วนเป็นประโยชน์ต่อระบบประชาธิปไตย” นพ.พรหมินทร์ กล่าว